[vc_row][vc_column][vc_column_text]พ่อแม่หลาย ๆ คนเคยมีคำถามมาถามหมอในเรื่องการฝึกให้ลูกมีทักษะต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต เช่น การฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบ มีน้ำใจ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในความเป็นจริง เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะมีทักษะเหล่านี้ตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการปลูกฝัง ของพ่อแม่ ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่หมอเคยพบเห็นและคิดว่าเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาสร้างเสริมทักษะการใช้ชีวิตในการก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ ก็คือ การที่ได้ดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
หลาย ๆ บ้านที่หมอมีโอกาสสัมผัส นอกจากจะมีคนอยู่ในบ้าน ก็จะมีสัตว์เลี้ยง อยู่ด้วยเป็นส่วนหนึ่ง สัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็น หมา แมว เมื่อมาอยู่ด้วยกัน ก็จะกลายเป็น ส่วนหนึ่งในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พ่อแม่ มีส่วนอย่างมากในการสร้างประสบการณ์ที่ดี ในการดูแลสัตว์เลี้ยงในบ้านกับลูก
เด็กที่ได้มีโอกาสร่วมดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยความเมตตา และอดทน เด็กเหล่านั้นจะได้ เรียนรู้การไปปฏิบัติต่อคนอื่นในสังคมด้วยความ เอื้ออาทรเช่นเดียวกัน ตรงกันข้าม การดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม เช่น ไม่สนใจ ทิ้งขว้าง เลี้ยงไม่ไหวก็เอาไปทิ้ง จะทำให้เด็กเรียนรู้การปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความไม่ใส่ใจเช่นเดียวกัน
“เด็กที่ได้มีโอกาสร่วมดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยความเมตตา และอดทนเด็กเหล่านั้นจะได้เรียนรู้การไปปฏิบัติต่อคนอื่นในสังคม ด้วยความเอื้ออาทรเช่นเดียวกัน”
การเลือกสัตว์เลี้ยงก็มีความสำคัญ อย่าเลือกเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ดูแลยาก หรือสัตว์ ที่ดุร้าย ควรเลือกสัตว์เลี้ยงที่ดูแลไม่ยาก ใจดี เชื่อง เพื่อที่เราจะได้ให้โอกาสลูกมาช่วยดูแล ได้อย่างไม่กังวลใจนัก ถ้าเป็นเด็กเล็ก เช่น อายุไม่ถึง 4 ปี คงยังไม่เหมาะที่จะปล่อยให้ดูแลสัตว์เลี้ยงเพราะยังไม่โตเพียงพอ บางทีอาจจะไม่ตั้งใจไปแกล้งสัตว์ ก็จะถูกกัดหรือข่วนได้ ควรอยู่ในสายตาพ่อแม่ตลอดอย่าทิ้งลูกอยู่กับสัตว์ตามลำพัง
ประโยชน์ของการมีสัตว์เลี้ยง นอกจากจะพัฒนาการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมกับคนอื่น ช่วยให้รู้จักมีเมตตา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็สามารถใช้ฝึกทักษะการช่วยเหลือตัวเองและคนอื่น ความรับผิดชอบได้ดีทีเดียว บางครั้งสัตว์เลี้ยงสามารถเป็นเพื่อนที่เด็กรู้สึกปลอดภัย เมื่อ มีความลับ เรื่องส่วนตัว ที่ไม่อยากบอกใคร แต่อาจจะเลือกที่จะเล่าให้สัตว์เลี้ยงฟังแล้วสบายใจขึ้น
เรียนรู้ชีวิตผ่านการมีสัตว์เลี้ยง เช่น เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อสัตว์เสียชีวิต ประสบการณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น แต่สำหรับเด็ก ประสบการณ์การสูญเสียเป็นสิ่งที่ใหม่ เมื่อเวลานั้นมาถึง ผู้ใหญ่ควรจะช่วยให้ผ่านพ้น เวลานั้นไปได้ สำหรับเด็กเล็กที่ความคิดความเข้าใจยังไม่พัฒนาเพียงพอ ไม่ได้ต้องการคำอธิบายที่ ซับซ้อนมากมาย แต่สิ่งที่ต้องการ คือ การปลอบโยน และความเข้าใจจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด
เด็กที่ยังไม่เข้าวัยรุ่น ความเข้าใจเรื่องความตายยังไม่พัฒนาเต็มที่ ในเด็กอายุ 3 ถึง 5 ปี จะเห็นว่าความตายเป็นเรื่องชั่วคราวและคิดว่าความตายจะคืนย้อนกลับมามีมีชีวิตได้ ส่วน ที่โตขึ้นมาหน่อย อายุ 6 ถึง 8 ปีจะเริ่มพัฒนาความเข้าใจในเรื่องความตายให้ใกล้เคียง ความเป็นจริงมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าอายุไม่ถึง 9 ปี ก็ยังไม่เข้าใจว่าความตายนั้นเป็นเรื่องที่ถาวรและย้อนกลับไม่ได้
ในเด็กเล็กจึงไม่จำเป็นจะต้องฟังคำอธิบายซับซ้อนเพราะไม่เข้าใจ เพียงแต่บอกเด็กว่า เมื่อสัตว์เลี้ยงตาย มันจะหยุดเคลื่อนไหว มองไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรอีกต่อไป และจะไม่ตื่น ขึ้นมาอีก บางครั้งเราต้องอธิบายแบบนี้ซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพราะลูกจะถามเราบ่อย ๆ ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรโกหกเด็ก เช่น บอกว่า ที่สัตว์เลี้ยงตายเพราะว่าทำตัวไม่ดี เลยมีผี มาเอาตัวไป พ่อแม่บางคนคิดว่าพูดแบบนี้ ลูกจะได้เป็นเด็กดี บางทีคำอธิบายที่ซับซ้อน ไม่เป็นความจริง เรื่องผีปีศาจ จะยิ่งทำให้ลูกกังวลใจ กลัว สับสน และกลายเป็นไม่เชื่อใจพ่อแม่อีก
บางทีลูกก็จะมีคำถามมาถามพ่อแม่ เช่น “ทำไมหมาของหนูตาย เป็นเพราะหนูดื้อ เป็นเด็กไม่ดีหรือเปล่า” หรือ “มันตายแล้วไปไหน แล้วจะได้เห็นมันอีกไหม” หรือ “ถ้าหนูเป็นเด็กดีมันจะกลับมาไหม” ซึ่งพ่อแม่ควรตอบเด็กด้วยความจริงใจไม่ต้องซับซ้อน ใช้คำพูดที่เข้าใจได้ง่ายตามวัยของเด็ก
เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยกำลังจะตายพ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกพูดถึงความรู้สึก เช่น ความเครียด ความกังวล ถ้าเป็นไปได้ให้ลูก มีโอกาสบอกลา ก่อนที่สัตว์เลี้ยงจะตาย ที่สำคัญพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการ แบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน เพื่อให้ลูกรู้ว่า เป็นธรรมดาที่จะต้องเศร้า ต้องคิดถึง เมื่อ สัตว์เลี้ยงตายไป แล้วถ้ามีคำถามมีอะไรสงสัย ก็พยายามตอบเท่าที่ลูกจะเข้าใจได้
การมีสัตว์เลี้ยงเป็นโอกาสให้เรียนรู้ที่จะมีความรับผิดชอบ การช่วยเหลือตัวเอง การดูแลเอาใจใส่คนอื่น และสร้างเสริมทักษะการ ใช้ชีวิต ทั้งประสบการณ์ที่มีความสุขและแม้ว่าจะเป็นความเศร้า แต่ในที่สุดก็จะผ่านพ้นไปได้ กลายเป็นต้นทุนชีวิตที่จะสะสมไว้เป็นภูมิคุ้มกัน เมื่อเขาต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ ในภายหน้าของชีวิต
บทความโดย : หมอมินบานเย็น จากคอลัมน์ Dotor’s note นิตยสาร Mother&Care[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]