เดี๋ยวนี้สื่อต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ละคร ข่าว ถ้าอะไรที่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง มักจะเป็นที่สนใจสำหรับคนทั่วไปมากเป็นพิเศษ
ถ้าพูดกันตามหลักจิตวิทยา ก็คงเป็นเพราะสัญชาตญาณในส่วนลึกของมนุษย์ก็มีความต้องการทำตามใจตัวเองและแนวโน้มจะรุนแรงอยู่ เพียงแต่ถูกขัดเกลาด้วยการเรียนรู้ หล่อหลอมด้วยกฎระเบียบของสังคม ศีลธรรมและมโนธรรมในใจ การขัดเกลาจึงมีความสำคัญ เริ่มที่จุดที่สำคัญที่สุดคือการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนของพ่อแม่ และ
สิ่งแวดล้อมที่ไม่สนับสนุนในเรื่องความรุนแรง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะเราอยู่ในสังคมที่ความรุนแรงถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา หรือตลกขบขัน เราเห็นได้จากในสื่อต่าง ๆ ทั้งในยูทูป ภาพยนตร์ รายการตลก จะเห็นบ่อย ๆ ว่า มุขตลกที่ถูกนำมาเล่นบ่อย ๆ คือ การที่คนคนหนึ่งกระทำความรุนแรงกับอีกคน ไม่ว่าจะเป็น การแกล้ง รังแก ทำให้อีกฝ่ายเจ็บตัว ที่หมอจำได้เลย เห็นบ่อย ๆ ตอนเด็ก ๆ คือ ภาพดาราตลกในรายการทีวีที่เอาถาดตีไปหัวอีกคน แล้วก็ขำกันไป
หมอเคยคุยกับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง พ่อแม่พามาตรวจเพราะเด็กชอบแกล้งเพื่อน เช่น ตบศีรษะ ผลักที่ตัว ใช้ขาขัดเวลาเพื่อนเดินผ่าน เพื่อนที่ถูกแกล้งมักจะมีอาการเจ็บเนื้อเจ็บตัว เพราะเด็กตัวใหญ่ แรงมาก ตอนที่คุยกับเด็ก ถามว่าทำไมถึงไปแกล้งเพื่อนล่ะ เด็กก็ตอบแบบไม่คิดอะไรว่า “ผมก็แค่อยากจะทำสนุก ๆ มันตลกดี” เด็กเล่าต่อว่า “ตอนอยู่บ้าน พ่อก็ชอบแกล้งผมแบบนี้ ผมบอกไม่ชอบ พ่อก็บอกว่า พ่อแกล้งเล่น ๆ แล้วทำไมผมจะแกล้งเพื่อนบ้างไม่ได้ล่ะครับ” ในครอบครัวพ่อแม่ของเด็กมีการทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรงบ่อย ๆ เด็กเล่าว่า เวลาแม่กับพ่อทะเลาะกัน พ่อแม่ก็ชอบลงไม้ลงมือใส่กัน “แม่ก็ตะโกนว่าพ่อ ผลักพ่อด้วย บางทีพ่อก็ตบแม่ ตอนแรกผมก็ไม่ชอบ ตอนหลังผมก็ชิน”
กลายเป็นภาพชินตาและคำพูดที่ชินหู ที่ผู้ใหญ่มักจะสอนเด็กว่า “แม่อยากให้หนูเป็นเด็กดี” หรือไม่ก็บอกลูกที่เป็นพี่น้องกันว่า “เล่นกันดี ๆ นะ อย่าตีกัน” แต่หลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่กลับกลายเป็นตัวอย่างและสนับสนุนความรุนแรงเสียเอง หากผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กใช้ความรุนแรง อย่างแรกที่ผู้ใหญ่ต้องทำ คือ ผู้ใหญ่จะต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเรียนรู้ในการไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงการจัดการกับความโกรธ
ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ก็คือเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรง เช่น อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็นบ่อย ๆ หรือเป็นเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง เช่น พ่อแม่จะตีรุนแรงเวลาที่ทำอะไรผิด หรือแถวบ้านมีการใช้ความรุนแรงให้เห็นเป็นธรรมดา เช่น เด็กที่เติบโตมาในชุมชนแออัด
ผู้ใหญ่ควรปลูกฝังเรื่องการจัดการกับความโกรธ เพราะก่อนหน้าที่คนคนหนึ่งจะใช้ความรุนแรงมักเกิดจากการมีอารมณ์โกรธนำมา สอนให้เด็กรู้ว่า การมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา คนเรามีความโกรธได้นะ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การจัดการกับความโกรธอย่างเหมาะสม โกรธได้แต่ไม่โวยวายอาละวาด ไม่ใช้ความรุนแรงกับสิ่งของและคนอื่น สอนให้เด็กรู้จักระบายออกอย่างสร้างสรรค์ เช่น การสื่อสารเชิงบวก หรือปรึกษาคนใกล้ชิด และรู้จักมีงานอดิเรกในการผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกาย ฟังเพลง อ่านหนังสือ ฯลฯ
นอกจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ที่หมอรู้สึกเศร้าหนักมากกว่าคือ สื่อมวลชนปัจจุบัน ก็ถือเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความชินชากับความรุนแรงทางอ้อมด้วย เวลาใครก็ตามที่เอาคลิปอะไรมาโพสต์แล้วฮิตหน่อย นักข่าวก็ทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไม่กลั่นกรอง คือจะโพสต์แชร์ต่อและรายงานข่าวต่อทันที ไม่ได้สนใจว่ามันเป็นคลิปที่มีความรุนแรงหรือไม่ แต่เพราะว่ามันเป็นกระแส เรียกความสนใจได้ดี
แต่การจะหวังให้สื่อบ้านเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สร้างสรรค์ คิดถึงสังคมมากขึ้นโดยไม่สนใจเรทติ้ง อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร ที่สำคัญกว่า คือเราเริ่มเองที่บ้านของเราแต่ละคน การอบรมสั่งสอนและปลูกฝังเด็กที่เรารับผิดชอบ ไม่ให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา มีวิธีการจัดการปัญหาที่เหมาะสมและไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน ตรงนั้นน่าจะทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรออะไร
บทความโดย : หมอมินบานเย็น จากคอลัมน์ Dotor’s note นิตยสาร Mother&Care