เมื่อไม่กี่วันมานี้ ข่าวพ่อของเด็กที่ถูกวัยรุ่น 5 คนรุมโทรมระงับอารมณ์ไม่อยู่ทำร้ายร่างกายผู้ก่อเหตุ เนื่องจากญาติผู้ก่อเหตุที่อ้างตัวว่าเป็นอบต.พยายามจ่ายเงินโดยไม่ต้องแจ้งความ ยังมีมีตำรวจช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้เรื่องจบ สร้างความโกรธแค้นให้กับคนในสังคม และรู้สึกสะใจเมื่อผู้ทำผิดโดนพ่อเหยื่อทำร้ายเอาคืนบ้าง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกครั้งที่มีข่าวคราวเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน สะเทือนความรู้สึกคนเป็นพ่อเป็นแม่และทุกคนในสังคม มีคำถามว่าเมื่อไหร่ปัญหานี้จะหมดไป แล้วเราจะปกป้องเด็ก ๆ ของเราอย่างไร
ไทยติดอันดับ 10 โลกคดีข่มขืน
- ไทยติดอันดับ 10 ของโลกจากการคำนวณจำนวนคดี แต่ถ้าคำนวณจากอัตราเฉลี่ยคดีต่อประชากรหญิงจะติดอันดับ 29 ของโลก
- รายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติล่าสุด สถิติคดีข่มขืนในไทย พ.ศ. 2552-2556 เฉลี่ยปีละ 4,000 คดี ซึ่งหมายความว่ามีเหตุเกิดขึ้นทุก 2 ชั่วโมง ตำรวจจับได้ปีละ 2,400 คดี
- แต่ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาข้อมูลกระบวนการยุติธรรมสำนักงานกิจการยุติธรรมรายงานว่าคดีข่มขืนเกิดขึ้นจริงมากกว่า 30,000 ดีต่อปี เท่ากับว่าเกิดขึ้นทุก ๆ 15 นาที
- คดีข่มขืนที่ไม่ได้แจ้งความมีถึง 87%
- สถิติเรื่องราวร้องทุกข์ข่มขืนอนาจารผ่านมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ปี 2558 มี 658 ราย ปี 2559 มี 681 ราย และเหยื่ออายุต่ำสุด 1 ปี 5 เดือน
- นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าคดีข่มขืน สาเหตุหนึ่งอาจมาจากผู้ก่อเหตุซึมซับความรุนแรงผ่านสังคมออนไลน์ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นก็ระบายความรุนแรงที่สะสม โดยกระทำต่อผู้อื่น
น่าคิด
- ตัวเลขจำนวนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่ารายงานในสถิติ เพราะเหยื่ออับอายจึงไม่กล้าเล่า ไม่กล้าแจ้งความ หรือกลัวผู้กระทำผิดที่มีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือเป็นผู้มีอำนาจมีอิทธิพลมากกว่าก็ตาม
- โพลสำรวจสถิติปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทยในปัจจุบันที่ควรได้รับการแก้ไขจากนิด้าโพล พบปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราทางเพศเกิดขึ้น 34.64 เปอร์เซ็นต์ มีการให้ความคิดเห็นหนึ่งจากประชาชนก็คือ ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เป็นตัวบอกอย่างหนึ่งว่าประชาชนไม่เชื่อใจในการใช้กฎหมายลงโทษผู้ทำผิด
คนร้ายมักจะเป็นใคร ?
คนร้ายในความเข้าใจโดยทั่วไปมักจะมีหน้าตาเป็นโจรผู้ร้ายโหดเหี้ยม หรือมีท่าทางไว้ใจไม่ได้ แต่จากสถิติคดีต่าง ๆ ผู้ก่อเหตุเกินกว่าครึ่งเป็นคนแปลกหน้า และอีกครึ่งหนึ่งเป็นคนคุ้นเคย คนรู้จัก รวมทั้งคนในครอบครัวค่ะ
จะมีบุคลิกอบอุ่นอ่อนโยนใจดีแค่ไหนก็เป็นผู้ร้ายได้ *จึงไม่ควรไว้วางใจใครถึง 100 % ควรพูดคุยกับลูกให้เขาเล่าความเป็นไปแต่ละวัน ฟังเขาเล่าไม่ขัดแย้ง และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเด็ก
หน้าที่ในการปกป้องเด็ก ๆ ของเรา
- คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกให้พูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ให้เป็นการคุยเล่นในบรรยากาศสบาย ๆ มาตั้งแต่เขายังเล็ก เช่น ตอนคุณแม่ไปทำงานแล้วลูกอยู่บ้านทำอะไรบ้าง ตอนลูกไปโรงเรียนทำอะไรบ้าง ปล่อยให้ลูกเล่าอย่างอิสระ แล้วพูดคุยกับเขา ไม่ให้เป็นการรายงานประจำวันที่เคร่งเครียดจริงจัง
- ฝึกลูกให้รู้จักบอกเล่าเกี่ยวกับความรู้สึก กลัว โกรธ เสียใจ เจ็บ ฯลฯ เช่น รู้สึกอย่างไรกับเหตุการนั้น ๆ รู้สึกอย่างไรกับคน ๆ นั้น เขาทำอะไรถึงรู้สึกอย่างนั้น
- ฝึกลูกให้เรียนรู้ถึงลักษณะของ สถานที่ เวลา และคน
- ทำความรู้จักกับคุณครู เพื่อนร่วมห้องของลูก และคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน
- ถึงจะไม่ใช่พ่อแม่ของเด็กก็อย่าเพิกเฉย ช่วยกันปกป้องเด็ก ๆ ได้ เมื่อพบเหตุการณ์หาวิธีเข้าไปช่วยเหลือและติดต่อขอความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือหน่วยงาน บอกพ่อแม่เด็ก
วิธีสอนลูกปกป้องตัวเอง
- สอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องอวัยวะเพศตั้งแต่เล็ก สอนเรียกอวัยวะเพศตอนอาบน้ำ ใช้ชื่อง่าย ๆ ที่เด็กเข้าใจ เช่น จู๋ จิ๋ม สอนไม่ให้ใครมาสัมผัสส่วนนี้ ยกเว้นพ่อแม่ และเมื่อโตอายุเท่าไหร่ห้ามใครสัมผัสหรือเห็น หน้าอก และอวัยวะเพศ
- สอนลูกว่าต้องใส่เสื้อผ้าปกปิดส่วนสงวนไม่ให้ใครเห็น ยกเว้นพาไปหาหมอตรวจร่างกายมีพ่อแม่อยู่ด้วย
- สอนลูกว่าไม่ให้ใครก็ตาม ทั้งคนแปลกหน้าและคนสนิท สัมผัสร่างกายทุกส่วนที่อยู่ภายใต้ชุดว่ายน้ำ ซึ่งหมายถึงชุดว่ายน้ำของเด็กแบบวันพีชเต็มตัว
- สอนลูกว่าห้ามใครมาหอม จูบปาก จับแก้ม บอกว่าพ่อแม่ไม่ให้ทำ สอนให้สื่อสารด้วยท่าทีสุภาพแต่ชัดเจน
- ให้บอกพ่อแม่ถ้ามีใครมาขอดู จับ หอม จูบปาก จับแก้ม หรือทำให้เขาอึดอัดใจ ให้ความมั่นใจกับลูกว่าพ่อแม่ปกป้องได้ไม่ต้องกลัวหากถูกขู่
- สอนว่าถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกแปลก ๆ ไม่ต้องกลัวหรือเกรงใจ ให้วิ่งหนี หรือขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่
- ให้ลูกพกนกหวีดติดตัวไปข้างนอกสำหรับเป่าเพื่อขอความช่วยเหลือ อยู่บ้านต้องฝึกใช้กันก่อนด้วยนะคะ
สังเกตอาการเด็กถูกล่วงละเมิด
หากใกล้ชิดลูกคุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตอารมณ์หรือพฤติกรรมลูกที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกได้ง่ายค่ะ เด็กจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ซึมลง กลัว ขี้ตกใจ
- นอนไม่หลับ ฝันร้าย
- มีแผล หรือฟกช้ำตามร่างกาย
- ก้าวร้าว
- หวาดระแวงผู้ใหญ่
จะทำอย่างไรหากเด็กถูกล่วงละเมิด
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กให้คำแนะนำว่า
1.เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่าต้องการเล่าเรื่องราวที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหา หรือขอความช่วยเหลือ ควรพร้อมรับฟังทันที เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าเขามีใครให้พึ่งพิงได้
2.แม้เรื่องราวที่เล่าจะร้ายแรงจนเหลือเชื่อ ควรรับฟังอย่างสงบ
- การแสดงอาการตกใจ โกรธหรือเสียใจ เด็กจะหยุดเล่า เพราะไม่มั่นใจว่าจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ และอาจทำให้เด็กกลัวว่าจะเดือดร้อนมากขึ้น
3.ถ้าเด็กไม่สามารถบอกเล่าได้อย่างต่อเนื่อง คอยปลอบโยน ให้กำลังใจ ให้เด็กสบายใจว่าถ้าเล่าออกมาให้หมดเขาจะปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือ
4.อย่าโต้แย้ง เพราะจะทำให้เด็กคิดว่าเราไม่เชื่อ ไม่รับฟัง ปล่อยให้เล่าก่อน แล้วค่อยถามรายละเอียด ที่ต้องการ
5.ไม่ต้องคาดคั้นตัวผู้กระทำ แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ เพื่อกำหนดวงผู้ต้องสงสัย และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำหรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็ก
- การทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอไป
6.วิเคราะห์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากไม่จริงรายละเอียดในการเล่าแต่ละครั้งจะไม่ตรงกัน ไม่ปะติดปะต่อ อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้แต่เด็กยังสื่อสารไม่เป็น หรือจิตใจยังกระทบกระเทือน ค่อย ๆ ฟังและจับเรื่องราวต่าง ๆ มาวิเคราะห์
7.แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยหลือ หรือแจ้งตำรวจหากรู้ตัวผู้กระทำ
8.รวบรวมหลักฐานการถูกล่วงละเมิด เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิด สิ่งของ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้เป็นหลักฐาน
9.พาเด็กไปตรวจรักษา
- ห้าม ! ชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจ เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ หากเหตตุการณ์ผ่านผ่านมาหลายวันแล้ว ควรตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบ การตั้งครรภ์นอกจากนี้จะต้องดูแลความรู้สึกของเด็ก และควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเยียวยาจิตใจของเด็กค่ะ
เบอร์โทรศัพท์ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ
- สถานีตำรวจ 191
- กองคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนกรมตำรวจ 252-3892-3
- มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ)
- ศูนย์ประชาบดี 1300
- โรงพยาบาลของรัฐ. 1669-มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร 0-2513-1001
- มูลนิธิผู้หญิง โทร 0-2433-5149 , 0-2434-6774
- มูลนิธิมิตรมวลเด็ก 0-2245-9904, 0-2245-8072-
- มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี 1134
- สภาทนายความ โทร 0-2629-1430
ข้อมูลอ้างอิง
- www.khaosodd.com
- www.thaichildrights.org/
- news.ch3thailand.com
- www.thairath.co.th
- www.dmh.go.th
- www.facebook.com/kendekthai
- nidapoll.nida.ac.th