ตั้งแต่คลอด เด็กๆ มักแวดล้อมไปด้วยพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย หากพ่อแม่และบุคคลใกล้ชิดให้ความรักอย่างสม่ำเสมอ ตอบสนองอย่างเหมาะสม และสนับสนุนพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ลูกก็น่าจะเติบโตขึ้นเป็นเด็กที่มั่นใจและพร้อมจะเผชิญโลกกว้างได้ เมื่ออายุ 2-3 ปี เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าโรงเรียน การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็ไม่น่ายากนัก แต่หากพ่อแม่ไม่ได้เตรียมพร้อมก็อาจทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ยาก
พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จ ในการปรับตัวกับการเข้าโรงเรียนได้โดยช่วยลูก เตรียมพร้อมในหลายๆ ประเด็น ดังต่อไปนี้
ให้ความสัมพันธ์ที่มั่นคง ความสัมพันธ์หรือความผูกพันที่มั่นคงเกิดจากการที่ลูกกับพ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ได้ และเหมาะสม เด็กเล็กต้องการการสัมผัส การโอบกอด การเล่น ที่เขารู้สึกได้ว่ามีความสนุกร่วมกัน มีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งมีการชื่นชมด้วยหากมีโอกาส ความผูกพันที่มั่นคงนี้ จะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคงในอารมณ์และมั่นใจในตนเองตามมา
ให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่จะทำได้ในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว การใส่รองเท้า การกินข้าว การเก็บของเล่น เป็นต้น แน่นอนในวัย 2-3 ปี ยังทำกิจวัตรเหล่านี้ได้ไม่สมบูรณ์ แต่พ่อแม่ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำเองโดยไม่ต้องคาดหวังผลเลิศนัก ในการกินลูกอาจจะยังใช้ช้อนไม่คล่อง อาจใช้มือหยิบจับของเข้าปากบ้าง อาจหกเลอะเทอะบ้าง พ่อแม่ต้องยอมให้เกิดขึ้นได้โดยไม่หงุดหงิด พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมหากลูกทำได้ดี ในการ แต่งตัวลูกอาจเก้ ๆ กัง ๆ พ่อแม่ก็คงต้องเข้าไปช่วยบ้างตามความเหมาะสม โดยให้ลูกเป็นฝ่ายเริ่มและ ทำเท่าที่เขาทำได้
สร้างวินัยในตัวลูก เมื่อเข้าโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแนวไหนก็ตาม โรงเรียนมักมีกฎเกณฑ์ สำหรับเด็กทุกคนอยู่แล้ว หากที่บ้านไม่เคยมีกฎเกณฑ์ให้ลูกเลย อาจปรับตัวลำบากหรือไม่ก็แสดงความเอาแต่ใจตนเองจนเกิดปัญหาทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรสร้างระเบียบวินัยเบื้องต้นให้กับลูกด้วย เช่น กินเป็นเวลาและเป็นที่เป็นทาง นอนเป็นเวลา เล่นแล้วเก็บ เป็นต้น รวมทั้งมีกิจวัตรบางอย่างในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น มีเวลาอ่านหนังสือด้วยกัน มีเวลาออกกำลังกายด้วยกัน เป็นต้น
สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ลูกควรมีโอกาสได้สัมพันธ์กับบุคคลนอกครอบครัวบ้าง ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก เช่น ได้มีโอกาสไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ มีโอกาสเล่นกับเพื่อนของพ่อแม่ เล่นกับลูกของเพื่อนพ่อแม่ เล่นกับลูกพี่ลูกน้อง เล่นกับเด็กวัยเดียวกันข้างๆ บ้าน หรือไปเล่นที่สวนสาธารณะ และได้ ผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ที่นั่น เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว การได้ไปทำกิจกรรมกลุ่มตามสถาบันหรือ ศูนย์พัฒนาการเด็กรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะเป็นการสร้างประสบการณ์ทางสังคมที่ดี หากลูกมีประสบการณ์ทางสังคมเช่นนี้ก่อนเข้าโรงเรียน จะทำให้มั่นใจ กับการต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นและลดความวิตกกังวล ที่อาจเกิดขึ้นได้
ส่งเสริมกิจกรรมหลากหลาย เมื่อเข้าโรงเรียน มักมีโอกาสที่ได้ทำกิจกรรมหลายรูปแบบ หากพ่อแม่ไม่ได้สนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมหลากหลายที่บ้าน เมื่อเข้าไปในโรงเรียนและต้องทำกิจกรรมที่ไม่คุ้นเคยอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับตนเองหรือไม่พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมเหล่านั้น นับเป็นการขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง พ่อแม่ควรพิจารณาว่าสิ่งที่ให้กับลูกนั้นครอบคลุมมากน้อยเพียงไรด้วย ลองดูว่าลูกได้มีโอกาสออกกำลังกาย มีโอกาสปีนป่าย โยนบอล เตะบอล เล่นอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น ร้องเพลง เต้น เคลื่อนไหว เคาะจังหวะ ขีดเขียน วาดรูป ระบายสี เล่นทราย เล่นดิน เล่นแป้งโดว์ ฟังนิทาน อ่านหนังสือ ลองดูว่ากิจกรรมข้างต้นเหล่านี้ เราได้ส่งเสริมบ้างหรือไม่
ส่งเสริมการอ่าน การอ่านนับเป็นนับเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม หากพ่อแม่ส่งเสริมตั้งแต่เล็ก นิสัยนี้ก็จะติดตัวไปถึงภายภาคหน้าได้ เมื่อลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก การอ่านก็หมายถึงการที่พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง ชี้ชวนให้ดูรูปภาพประกอบไปด้วย พูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือที่อ่าน ด้วยกัน เมื่อถึงวัยที่อ่านได้เอง ลูกก็จะสนใจและสามารถอ่านได้ อย่างคล่องแคล่วและมีใจรักการอ่านขึ้นด้วย
แนวทางข้างต้นน่าจะช่วยให้ลูกสามารถเข้าโรงเรียนได้อย่างประสบผลสำเร็จและมีใจที่จะรักการเรียนรู้ร่วมด้วย อย่างไรก็ดี ก่อนลูกจะเข้าโรงเรียนพ่อแม่ก็ควรบอกลูกรวมทั้งพาลูกไปดูโรงเรียน ทำความรู้จักกับครู อย่าลืมที่จะพูดสิ่งดีๆ เกี่ยวกับโรงเรียน ไม่ใช้การขู่ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนกับลูก และอย่าลืมที่จะต้องทำใจและเตรียมใจตัวเองไว้บ้างนะครับ เพราะบางครั้งลูกอาจจะไปโรงเรียนได้อย่างมั่นใจและมีความสุข แต่ตัวพ่อแม่เองนั่นแหละที่จะรู้สึกกังวลและคิดถึงลูก
บทความโดย : นพ.จอม ชุมช่วย จากคอลัมน์ Dotor’s note นิตยสาร Mother&Care