Q : ได้ยินคำว่าอัตราเงินเฟ้อบ่อย ๆ เกี่ยวข้องกับแม่ ๆ ยังไงบ้าง ?
A : ความจริงแล้วอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเราทุกคน ยกตัวอย่าง เช่น เราเคยซื้อกาแฟร้านทั่วไป 1 แก้วเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนแก้วละ 15-20 บาท ตอนนี้ประมาณ 35 บาท อย่างนี้เรียกว่าเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 4 กว่าเปอร์เซ็นต์ สมมุติเราเอาเงินไปเก็บไว้ในออมทรัพย์แล้วได้ดอกเบี้ยประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์ สรุปว่าเงินเราโตขึ้นหรือเงินเราเล็กลง เงินเราเท่าเดิมครับแต่เราซื้อกาแฟได้ไม่ถึงแก้ว
กฎของเงินเฟ้อคือปริมาณเงินของเราเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง !
อัตราเงินเฟ้อมีผลกับคุณแม่ตรงนี้ครับ สมมติว่าคุณแม่จะตั้งเป้าเก็บเงินไว้ให้ลูกเรียนจบปริญญา ถ้าตอนนี้ลูกยังไม่ได้เข้าโรงเรียน เรามาคำณวนดูคร่าว ๆ ว่าต้องมีเงินเก็บเงินเท่าไหร่เพื่อค่าการศึกษาลูก
เข้าเรียนอนุบาล 3 ปี ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี ปริญญาตรี 4 ปี ปริญญาโท 2 ปี รวม 21 ปี ยังไม่ได้พูดถึงการเรียนบางสาขาต้องเรียนหลายปี อย่างเรียนหมอปริญญาตรี 6 ปี ต่อแพทย์เฉพาะทางอีกกี่ปีก็ว่ากันไป
ดูยอดรวมแล้วคุณแม่อาจตกใจว่าขึ้นหลักล้านหลักสิบล้านกันเลย แต่เราไม่ได้จ่ายทีเดียวก้อนโต ค่อย ๆ จ่ายเป็นเทอมไป แต่ก็ต้องมีเงินออมให้พอจนเขาเรียนจบ
เพราะฉะนั้นถ้าคุณแม่ตั้งเป้าเก็บเงินเพื่อการศึกษาลูกให้เขาเรียนตลอดรอดฝั่งถึงปริญญาตรีหรือโทก็ตาม อย่าลืมคิดเผื่ออัตราเงินเฟ้อเอาไว้ด้วยนะครับ
เรียบเรียงจาก : สัมภาษณ์ คุณโจ้-ปฐมภัสร์ รชตะอนันต์ชัย ที่ปรึกษาด้านการเงินและผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์
พิธีกร : แม่แอร์ Thelovelyair.com
Facebook : Mother&care Live : ทำไมต้องวางแผนการเงินเพื่อลูก ?