พ่อแม่ทุกคนมักจะบอกและสอนลูก ๆ เสมอว่าให้พูดความจริง แต่บ่อยครั้งพ่อแม่เองก็เผลอที่จะพูดไม่จริงกับลูก แต่พ่อแม่ก็จะอธิบายว่า ที่โกหกไปก็เพราะความจำเป็น แสดงว่าบางครั้งคนเราก็โกหกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจและจำเป็น เพราะฉะนั้นถ้าวันหนึ่งพ่อแม่พบว่าลูกโกหก ก็คงต้องทำความเข้าใจ มีสติในการจัดการ
พ่อแม่หลายคนโกรธมากเมื่อรู้ว่าลูกโกหก ความโกรธไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ควรให้ความโกรธนั้นมากเกินไป พยายามทำความเข้าใจและใช้เหตุผลในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ถ้าเป็นเด็กเล็ก ๆ เราสามารถพบเรื่องการพูดไม่จริงได้โดยเป็นปกติของพัฒนาการ เพราะยังมีพัฒนาการทางภาษาไม่ดีไม่สมบูรณ์ หมอเคยเจอว่า เด็กบางคนชอบพูดว่า “ไม่” หรือ “เปล่า” เวลาที่พ่อแม่บอกว่า “หนูทำ…นี้ใช่มั้ย” ที่เด็กพูดว่า “ไม่” หรือว่า “เปล่า” อาจไม่ได้หมายความว่าจะโกหก แต่อาจต้องการบอกเป็นนัยๆกับพ่อแม่ว่า “อย่าดุหนูนะ” หรือ “หนูจะไม่ทำอีกแล้ว”
นอกจากนั้นเด็กเล็กบางทีแยกแยะความจริงกับจินตนาการไม่ได้ เช่น เด็กอาจจะมีจินตนาการว่าการที่ใบกล้วยพัดไหวตอนกลางคืนเป็น ผี หรือ สัตว์ร้าย เวลาที่เด็กเล็กพูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ไม่ควรดุแต่ค่อย ๆ อธิบายความเป็นจริง การรับรู้ของเด็กเล็กบางทีไม่ละเอียดหรือตรงกับความจริงเหมือนเด็กโตหรือผู้ใหญ่
เด็กเล็กจะคิดไม่ซับซ้อน มีความคิดจินตนาการ มีแฟนตาซีสูง คิดว่าสิ่งของมีชีวิตจิตใจ เช่น พ่อเผลอไปเดินเหยียบตุ๊กตาของลูก ลูกก็ร้องไห้ใหญ่บอกว่า พ่อทำตุ๊กตาเจ็บ เป็นต้น
ดังนั้นผู้ใหญ่ก็ควรทำความเข้าใจ ไม่ต้องกังวลเกินไป ถ้าเด็กเล็กๆ เหมือนจะพูดไม่จริงบ้าง แต่ถ้าเด็กที่โตหน่อย บางทีการโกหกมักจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้
หมอจะลองเล่าถึงบทสนทนาของลูกสาวอายุเก้าขวบ ในวันที่พ่อรู้ว่าลูกสาวโกหกพ่อ เรื่องทำแก้วกาแฟใบโปรดของพ่อแตก แต่กลับโกหกว่า ไม่ได้ทำ
“ก็วันก่อน พ่อยังบอกตำรวจเลยว่าพ่อต้องพาหนูไปหาหมอทั้งที่ไม่ใช่ ตำรวจจับที่พ่อขับรถฝ่าไฟแดง แต่พ่อกลัวเลยโกหกใช่ป่าว แล้วทำไมหนูถึงโกหกไม่ได้ล่ะ” เป็นคำพูดจริงๆ ของเด็กคนหนึ่ง ที่พูดกับคุณพ่อ ในวันที่พ่อดุที่เด็กพูดโกหก “หนูรู้ว่าถ้าหนูพูดไปพ่อก็ต้องตีหนูไง หนูก็กลัวนะ”
จริง ๆ แล้ว ไม่มีใครชอบโกหก เพราะเมื่อโกหกก็จะรู้สึกว่าคนที่เขาไปพูดโกหกนั้นเขาจะรู้หรือจับได้หรือไม่ แล้วทำไมลูกต้องโกหก ถ้าพ่อแม่รู้และเข้าใจ ไปแก้ที่สาเหตุ อะไร ๆ ก็น่าจะง่ายขึ้น
โดยทั่วไป เราพบว่า เด็กที่โกหกส่วนใหญ่นั้นไม่ได้โกหกเพื่อต้องการทำอะไรร้าย ๆ ไม่ได้โกหกเพื่อเจตนาทำให้คนอื่นเดือดร้อน
สาเหตุที่เจอบ่อย
- โกหกเพราะว่าต้องการปกป้องตัวเอง บางทีเด็กกลัวจะถูกลงโทษ ถูกตี เมื่อถามประวัติย้อนไปในกรณีนี้ มักพบว่าพ่อแม่อาจจะเคยลงโทษเด็กรุนแรงมาก่อน ยิ่งทำโทษรุนแรงมาก เด็กยิ่งพูดโกหกเพราะกลัว พบในครอบครัวที่เข้มงวดมาก ๆ ลงโทษด้วยความรุนแรง สรุปคือ ยิ่งทำให้เด็กกลัวมาก ก็มักจะโกหกมาก เพราะกลัวจะถูกทำโทษรุนแรง
- บางทีเพราะเลียนแบบผู้ใหญ่ พบในพ่อแม่ที่มักพูดโกหกเป็นประจำให้ลูกเห็น ทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่เห็นเสียหายที่จะพูดโกหกบ้าง เพื่อผลประโยชน์หรือการเลี่ยงความผิดบางอย่าง
- โกหกเพราะต้องการคำชมหรือความสนใจ มักพบในเด็กที่มีปมในใจบางอย่าง ขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นคงทางใจ หรือในเด็กที่เพิ่งมีน้องใหม่ มีความเครียดอะไรบางอย่าง เบื่อ เหงา เด็กที่รู้สึกว่ามีคุณค่าในตนเองต่ำ เลยโกหกให้คนมาสนใจตัวเองมากขึ้น แม้จะทำให้ถูกดุหรือว่าก็ไม่เป็นไร
เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ลูกโกหกพ่อแม่ บางครั้งก็ต้องไปดูว่าที่ผ่านมาพ่อแม่ทำให้ลูกกลัวเกินไป หรือทำตัวเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ให้ความเอาใจใส่ลูกน้อยเกินไปหรือไม่ และพยายามไปแก้ที่สาเหตุ ต้องหลีกเลี่ยงการพูดโกหกให้เห็นเป็นตัวอย่าง สำหรับลูกที่โกหกเพราะอยากให้คนสนใจ พ่อแม่ต้องเข้าใจและให้เวลาใส่ใจดูแลให้มากขึ้น ลูกก็ไม่ต้องพูดโกหก เพื่อให้พ่อแม่สนใจ
เมื่อจับได้ว่าลูกพูดโกหก
ไม่ควรลงโทษด้วยวิธีรุนแรง ซึ่งจะทำให้ลูกกลัวและเกิดการโกหกเมื่อทำผิดไปเรื่อยๆ ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับลูก เวลามีอะไรก็จะมีแนวโน้มปกปิดผู้ใหญ่ ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ ควรใช้วิธีที่นุ่มนวล หากทำผิด เปิดโอกาสรับฟัง และลงโทษอย่างมีเหตุผล ให้เด็กรู้สึกว่าการพูดความจริงก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป
ให้แรงเสริมทางบวกกับเด็ก ชมเชยเมื่อยอมรับความจริง ก่อนที่จะทำโทษในเรื่องที่ทำผิดตามความเหมาะสม เด็กจะมีแนวโน้มพูดความจริงมากขึ้นในคราวหน้า
เรียบเรียงจากคอลัมน์ Doctor’s note โดย หมอมินบานเย็นนิตยสาร Mother&Care
[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]