อากาศชื้น ๆ เย็น ๆ อย่างนี้โรคมือเท้าปากระบาดได้ง่าย พบได้บ่อยในเด็กเล็กช่วงอายุระหว่าง 1-3 ปีค่ะ
รับเชื้อโรคมาจากไหน
มือเท้าปากเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ยังไม่มียาเฉพาะที่ฆ่าเชื้อโรคได้ มักติดต่อโดยการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นจากการกินอาหารที่มีเชื้อโรค สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย รวมไปถึงอุจจาระแล้วนำมือเข้าปาก การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างตามโรงเรียน เนอสเซอรี่ เด็ก ๆ จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
สังเกตอาการลูกเล็กไม่ยอมกิน
ลูกอาจมีอาการป่วยคล้ายกับหวัด มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อนอนไม่หลับหรือหลับมากกว่าปกติ ขอดื่มแต่น้ำเย็น นอกจากอาการตุ่มสีแดงขึ้นบริเวณมือ เท้า ปากแล้ว ในเด็กเล็กที่ยังบอกอาการไม่ได้ คุณแม่อาจไม่ทราบว่าลูกเจ็บปาก ลองสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ น้ำลายไหล
อาการนี้ต้องพบคุณหมอ
ถ้ามีไข้สูง หรือรับประทานอะไรไม่ได้ ดูซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง หรือสีเข้มขึ้น ควรรีบพาไปหาคุณหมอ คุณหมอจะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก มีไข้ และให้เช็ดตัวลดไข้ ถ้าเป็นมากอาจให้ยาชากลั้วปากเพื่อช่วยให้ลูกกินอาหารได้
โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนควรระวัง เช่น ขาดน้ำและพลังงาน ชักจากไข้สูง ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงแต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลจนเกินไปเพราะพบได้น้อย เช่น เล็บมือเล็บเท้าหลุด สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ
ดูแลเมื่อลูกป่วย
1.แผลในปากทำให้ลูกเจ็บปากอาจไม่กินอาหาร ให้ลูกหม่ำไอศกรีมหรือสมูทตี้ได้ค่ะ ช่วยให้ปากมีอาการชาไม่เจ็บ ยอมกินอาหารง่ายขึ้น
2.เลี่ยงการดื่มน้ำร้อน น้ำอัดลม น้ำผลไม้รสเปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ เพราะจะทำให้เจ็บแผลในปาก
3.ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณตุ่มแผล ไม่ปิดหรือพันไว้
4.ให้ลูกหยุดเรียน 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายป้องกันการเป็นผู้แพร่เชื้อ
เช็ดด้วยแอลกฮอล์เชื้อโรคไม่ตาย !
โดยทั่วไปแล้วมักจะเชื่อว่าแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคได้ดีที่สุด แต่วิธีที่ดีที่สุดในการการดูแลความสะอาดเพื่อป้องกันโรคมือเท้าปากคือการล้างมือฟอกสบู่ ทั้งมือของลูกก่อนกินอาหารและมือคุณพ่อคุณแม่ก่อนและหลังทำอาหาร เพราะเชื้อโรคนี้ไม่ตายด้วยแอลกอฮอล์ อย่าลืมสอนลูกให้รู้จักวิธีล้างมือฟอกสบู่ และให้ลูกกินอาหารปรุงสุกและสะอาดด้วยค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
– พญ.ลลิต ลีลาทิพย์กุล กุมารแพทย์
– www.hopkinsallchildrens.org
– www.thaihealth.or.th