[vc_row][vc_column][vc_column_text]เริ่มจากมีคุณแม่คนหนึ่งที่ถามหมอว่า “คุณหมอ อยากให้หมอช่วยเขียนวิธีที่พ่อแม่จะอยู่กับการศึกษาไทยแบบนี้หน่อย ลูก ๆ เรียนหนักแบบนี้ พ่อแม่เครียด วางตัวไม่ถูก”
จากการสังเกตเด็กและครอบครัวที่มาพบในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา น่าใจหายว่า มีคนไข้เด็กที่มีผลกระทบจากปัญหาที่เกิดจากความเครียดในการเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูแนวโน้มว่ามีแต่จะรุนแรงขึ้นทุกวัน
ส่วนหนึ่งเกิดจากปฏิกิริาของพ่อแม่ด้วย ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็ไม่ได้ตั้งใจหรอก แล้วพ่อแม่ควรจะวางตัวอย่างไรดี ให้ทั้งพ่อแม่และลูกผ่านพ้นสถานการณ์ เรียนเยอะสอบแยะ แบบนี้ไปได้อย่างราบรื่น
อย่างแรกก็คือ พึงระลึกไว้ว่า คะแนนสอบไม่ใช่ตัวกำหนดความสำเร็จของชีวิตคน หมอพบพ่อแม่มากมายที่เครียดมากกับคะแนนสอบของลูก มันก็น่าจะเครียด แต่ไม่อยากให้ไปจริงจังมากเกินไป
ประสบการณ์ในการคุยกับเด็กและวัยรุ่นทำให้พบว่า คะแนนสอบไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกความสำเร็จและความสุขในชีวิตของเด็กโดยตรง แต่เมื่อคะแนนสอบของลูก กลายเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของพ่อแม่ นั่นแหละที่ทำให้มีผลกระทบต่อความสุข (หรือความทุกข์) ของเด็ก ๆ
จากการดูคนไข้มากมาย พบว่าคนที่มีความสุขส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้สอบได้คะแนนดี ๆ ตอนเด็ก ๆ ตรงกันข้ามก็คือ คนมากมายที่ประสบความสำเร็จในการเรียน แต่กลับล้มเหลวในการใช้ชีวิต โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ทำให้คน ๆ หนึ่งประสบความสำเร็จ คือความพยายาม ความมุมานะบากบั่น ไม่ย่อท้อเวลาพบอุปสรรค หาใช่คะแนนสอบอย่างเดียวไม่
พ่อแม่ควรมีความคาดหวังอย่างเหมาะสม การเรียนของเด็กอาจจะหนักจริง แต่สิ่งที่หนักหนากว่าก็คือ ความคาดหวังที่มากเกินไปของพ่อแม่
พ่อแม่เป็นคนสำคัญของเด็ก เด็กก็อยากที่จะทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ อยากให้ชื่นชมและพอใจ เมื่อเด็กยังเล็ก พ่อแม่หลายคนที่หมอคุยด้วยมีความคาดหวัง เช่น อยากให้ลูกสอบเข้าเรียนในโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีและมีชื่อเสียง ส่งลูกไปเรียนกวดวิชาตั้งแต่ยังขี่จักรยานไม่เป็น จนถึงวัยรุ่น พ่อแม่บางคนก็หวังเอาไว้ว่าลูกจะต้องสอบเข้าเรียนที่คณะนั้น มหาวิทยาลัยนี้ พ่อแม่บางคนอาจจะไม่ได้บอกว่าให้เรียนที่ไหน แต่ก็จะบอกเป็นแนวว่า ให้เลือกคณะอะไร ทำงานแบบไหนจึงจะมีอนาคตดี
บางครั้งผู้ใหญ่ก็คิดว่าความคาดหวังของตัวเองเป็นสิ่งที่วิเศษสุดสำหรับเด็ก แต่อาจจะลืมคิดหรือถามลูกว่า ลูกมีความสุขกับสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังว่ามันจะดีที่สุดสำหรับลูกหรือไม่ จนกลายเป็นว่าการแข่งขันเรื่องเรียนของเด็กสมัยนี้ ไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เด็กแข่งขันเพื่อไปถึงความฝันของพ่อแม่ด้วย
ที่สำคัญพ่อแม่ควรจะมองความสามารถของลูกตามความเป็นจริง ควรยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น เช่น ลูกอาจจะไม่เก่งคณิตศาสตร์ แต่ทำคะแนนดีในวิชาภาษาอังกฤษ มีคุณแม่บางคนที่อยากให้ลูกได้ 4.00 จึงหาครูพิเศษมาติวเข้มคณิตศาสตร์ให้เต็มที่ แต่บางครั้งหลังจากติวไปแล้วเด็กก็ยังทำได้ไม่ดี เพราะทำไม่ได้จริง ๆ เพราะไม่ถนัดคณิตศาสตร์ความสามารถของคนเรามีขีดจำกัด พ่อแม่ควรทำความเข้าใจตรงนั้น มากกว่าจะไปเคี่ยวเข็ญบังคับจนเครียดกันไปหมดทั้งบ้าน
สุดท้าย อย่าไหลไปตามกระแสสังคมจนขาดสติ พ่อแม่หลายๆ คนบอกหมอว่า จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากให้ลูกเครียด แต่ทุกคนรอบข้างเขาทำกันหมด กลัวจะตามเขาไม่ทัน อันนี้ก็เข้าใจได้ แต่ก็อย่าให้มันมากเกินไป มีคุณพ่อคนหนึ่งมีลูกวัยสามขวบบอกว่า เพื่อน ๆ ทุกคนที่มีลูกจะต้องให้ลูกไปสอบเข้าโรงเรียนสาธิตฯ และต้องไปเรียนพิเศษที่นี่ ๆ ก็ตามไปเรียนด้วย “กลัวจะพลาดอะไรดีๆ ไป” คุณพ่อบอก แต่ผลปรากฏว่า ลูกสาวอายุสามขวบเครียด พฤติกรรมถดถอย เพราะเรียนมากเกินไป
ในสภาพสังคมที่เด็กเรียนหนักเช่นในปัจจุบัน กำลังใจเป็นสิ่งที่ต้องแบ่งปันในช่วงเวลาที่ยากลำบาก กำลังใจของพ่อแม่มีความสำคัญกับลูกมาก แม้ว่าจะเรียนหนัก แต่ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจ หมอเชื่อว่าเด็กจะผ่านพ้นจนกระทั่งเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขได้
บทความโดย หมอมินบานเย็น
คอลัมน์ Doctor’s note นิตยสาร Mother&Care[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]