X

เลี้ยงลูกสายกลางเป็นอย่างไร ?

เลี้ยงลูกสอนลูก แบบไหนเรียกว่าตึงไป แบบไหนเรียกว่าหย่อนไปตามมาอ่านบทความโดย ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ กันค่ะ

คุณแม่น้องธีรามีคำถามว่า ตอนนี้น้องอายุได้เกือบ 4 ปีแล้ว รักสวยรักงามมาก ชอบแต่งตัวตามอาม่า ทาคิ้ว ทาปาก ทาเล็บ เลือกเสื้อผ้าเอง จะทำอย่างไรดี ?

เด็กโดยทั่วไป เมื่อช่วงวัย 2 ปีจะเริ่มอยากจะเรียนรู้สิ่งรอบตัว ช่างสังเกต และใส่ใจในคำพูดคนอื่นมากขึ้น เช่น ถ้าคนใกล้ชิดชมว่า แต่งตัวอย่างนี้สวยจัง เด็กก็อาจจะใส่เสื้อชุดนี้ซ้ำ ๆ ในทางตรงกันข้ามเด็กที่โดนตำหนิบ่อย ๆ ก็มักจะเขินอาย ไม่กล้าทำหรือไม่ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ค่ะ

น้องธีราเป็นเด็กออทิสซึมที่น่ารักมาก แก้มยุ้ย ตาหวานและช่างออดอ้อน จึงไม่น่าแปลกใจที่อาม่าจะรักและดูแลเป็นพิเศษ

ส่วนคุณแม่น้องธีราเป็นข้าราชการ การทำงานค่อนข้างมีความยืดหยุ่นน้อย วิธีการทำงานส่วนใหญ่จะเข้มงวด เมื่อลูกน้องทำงานพลาดก็จะใช้วิธีว่าให้หลาบจำ จนบางครั้งลูกน้องถึงกับร้องไห้ เมื่อถามถึงเพื่อนร่วมงาน คุณแม่บอกว่าไม่ได้สนิทกับใครเป็นพิเศษและจะพูดกันเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น เนื่องจากมองว่าเป็นหัวหน้าไม่เหมาะจะวางตัวสนิทกับลูกน้อง

สมัยที่ดิฉันเรียนอยู่ที่อเมริกานั้น ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมที่เรียกว่า Ice cream with the Dean เป็นช่วงเวลาที่นักศึกษา อาจารย์ คณบดี เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งส่วนธุรการและแม่บ้าน มาร่วมรับประทานไอศกรีมด้วยกันในบรรยากาศสบาย ๆ มีการพูดคุยถึงงาน ปัญหา ขอคำแนะนำ หรือแม้กระทั่งข่าวหมั้นกับแฟนก็มาแลกเปลี่ยนกันได้ มีคนเข้าไปคุยกับคณบดีมากมาย ผู้เขียนเคยถามอาจารย์ที่ปรึกษาว่ากิจกรรมลักษณะนี้จะไม่ทำให้คนเราขาดความเกรงใจหรือ ?

คำตอบที่ทำให้ประทับใจมากก็คือ คนที่เป็นหัวหน้าที่ดีนั้น ต้องเป็นเพื่อนที่สามารถรับฟังและเข้าถึงทุกคนได้ หัวหน้าก็เปรียบได้กับชาวสวน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีแล้ว ชาวสวนไม่สามารถจะไปควบคุมได้หมดทุกสิ่ง เช่น ไม่สามารถบังคับให้ดอกไม้บานวันนี้ ไม่สามารถบังคับไม่ให้วัชพืชขึ้น แต่ชาวสวนสามารถเด็ดวัชพืชที่ขึ้นได้ พรวนดินให้ซุยเพื่อให้รากได้รับอาหารได้ และช่วยให้มีการผสมพันธุ์เพื่อให้ดอกผลิบานอย่างสวยงามได้

ถ้าหัวหน้ามัวแต่ไปบังคับลูกน้องหรือกลัวว่าลูกน้องจะไม่เกรงใจ ลูกน้องจะเด่นกว่า เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ลูกน้องที่นำความคิดใหม่ ๆ มาเสนอนั้น อาจจะทำให้เกิดการต่อยอดในสิ่งที่แปลกและดีขึ้นอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ คนสวนที่ไม่รู้ความงามของดอกไม้ ก็เหมือนหัวหน้าที่ไม่รู้ศักยภาพของลูกน้อง ไม่มีใครรู้ว่าในวันหนึ่งดอกไม้ดอกนั้น หรือลูกน้องคนนั้นจะกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเติบโตที่ไหนอีกก็ได้

คุณพ่อคุณแม่ที่ดีก็เหมือนกับการเป็นชาวสวนที่ดี คือดูแลลูกให้เติบโตทั้งกายใจเช่นเดียวกับปลูกดอกไม้ให้แข็งแรงจนผลิบานอย่างงดงาม

สำหรับกรณีน้องธีรา ตามพัฒนาการน้องจะเริ่มแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เมื่ออยู่ในช่วงวัยที่แสดงถึงความสามารถในการเลือกได้ การที่คุณแม่แสดงอาการไม่พอใจในการช่างแต่งตัว อาจทำให้เด็กขาดความมั่นใจเมื่อต้องตัดสินใจหรืออยู่ในสภาพกดดันเมื่อโตขึ้น

ครอบครัวที่ช่างบังคับลูก ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น หรือเมื่อแสดงความคิดเห็นก็จะถูกว่า ถูกห้ามย่อมจะทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากความกลัว เด็กจะมีการควบคุมตัวเองที่น้อยกว่าเด็กคนอื่น ๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาส เด็กเหล่านี้มักจะทำอะไรแหวกกฎมากกว่า ไม่มีกฎระเบียบมากกว่า รวมถึงขาดแรงจูงใจที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าด้วยค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบบังคับมักจะมองว่า การให้โอกาสลูกเลือกหรือทำในสิ่งที่ถนัดหรือชอบบ้างเป็นการเสียอำนาจในการบังคับ อาจมีคำพูดติดปาก เช่น ต้องกำราบเสียบ้าง ต้องทำให้รู้สึก ชักจะมากไปแล้ว เป็นต้น พบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงแบบบังคับนี้ จะต้องได้รับการบังคับถึงจะทำอะไรสักอย่างได้ เพราะเมื่อไม่ได้รับการบังคับ เด็กก็จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เลยนั่นเอง

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่ให้สิทธิ์ลูกในการเลือกแบบพอดี ๆ แทนที่จะบังคับลูก จะประเมินก่อนว่า ลูกตัวเองมีขีดความสามารถเท่าไหร่อย่างไรบ้าง อะไรที่ไม่อันตรายหรือไม่ทำร้ายตัวเองและคนอื่น ก็จะเปิดโอกาสให้ลูกลองทำได้บ้าง รวมถึงช่วยวางขอบเขต แล้วให้ลูกเป็นคนตัดสินใจว่า เมื่อสุดท้ายแล้วมี 2 ทางเลือก ลูกจะเลือกอย่างไร

ในกรณีน้องธีรานั้น ได้ให้คำแนะนำในส่วนของการจัดการ โดยให้คุณแม่วางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น เมื่อรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะไปเที่ยวข้างนอก คืนนี้ให้คุณแม่หยิบชุดสวยสัก 3 ชุด มาให้น้องเลือกก่อน เมื่อเลือกแล้วให้บอกว่า “น้องธีราใส่ชุดนี้แล้วต้องสวยมากแน่ ๆ เลยค่ะ พรุ่งนี้เราใส่ชุดนี้ไปอวดอาม่ากัน อาม่าต้องหอมแก้มน้องธีราชื่นใจแน่ ๆ เลยค่ะ”

ถ้าตอนเช้าน้องเปลี่ยนไปเลือกชุดใหม่แทนชุดที่เลือกไว้ให้ ก็ขอให้คุณแม่พูดกับน้องดี ๆ ว่า “เมื่อคืนคุณแม่ตั้งใจดูน้องธีราใส่ชุดนี้เลยนะคะ อาม่าก็คงเสียใจที่น้อไม่ได้ใส่ชุดสวยค่ะ เอาเป็นว่าครั้งหน้าค่อยใส่ชุดที่หนูเลือกวันนี้นะคะ คุณแม่จะได้ไปพูดให้อาม่าฟังก่อนด้วยค่ะ” และควรที่จะพาน้องธีราไปให้ได้รับกำลังใจจากอาม่าเสียตอนเช้าวันนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจเมื่อน้องต้องตัดสินใจในอนาคตค่ะ

ส่วนเรื่องทาเล็บแต่งหน้านั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่น่าเห็นด้วยเท่าไหร่นัก มีงานวิจัยจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในเครื่องสำอาง แถมยาทาเล็บอาจจะร่อนติดอาหารที่เผลอหยิบใส่ปาก นอกเสียจากว่าคุณแม่มั่นใจว่าเครื่องสำอางเหล่านั้นเป็นออร์แกนิกไม่มีสารเคมีปลอมปน

การให้โอกาสลูกในการเลือกทำในสิ่งต่าง ๆ นั้น ขอให้คุณพ่อคุณแม่ยึดหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ควรจะให้ตัวเลือกอันชาญฉลาดให้กับลูก แล้วให้ลูกเลือก เท่ากับเป็น win-win situation ค่ะ

เรียบเรียงจากบทความโดย ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ
Mother & Care Free Mag VOL.12 NO.135

Categories: Meet Doctor
motherandcare: