X

นั่งดูการ์ตูนเป็นชั่วโมงใช่มีสมาธิหรือไม่ ?

Q : ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจว่าการที่เด็กนั่งดูการ์ตูนได้เป็นชั่วโมงแสดงว่ามีสมาธิ ความจริงแล้วเป็นอย่างไร ?

A : แสดงว่าผู้ใหญ่เองก็ไม่เข้าใจว่าสมาธิคืออะไร สมาธิเป็นการรู้สองอย่างคือรู้ตัวกับรู้สภาพแวดล้อม เราต้องฝึกเด็กให้รู้ตัวและรู้บุคคลรอบ ๆ ข้าง ขณะที่เด็กดูการ์ตูนจ้องอยู่หน้าจอแล้วไม่รู้ตัว เขาจะถูกสะกดจิตหลุดเข้าไปในโลกเสมือนจริงของชีวิต อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นสมาธิที่สมบูรณ์แบบ

สมาธิสมบูรณ์แบบคือดูทีวีและย้อนกลับมาดูตัวได้ สมมุติว่าผู้ใหญ่ดูข่าวนี้แล้วย้อนกลับมาคิดว่าเกิดอะไรขึ้นในข่าว เด็กเล็กดูการ์ตูนอย่างเดียวกลับมาคิดไม่ได้ หรือนั่งดูแล้วเมื่อยขาแต่ไม่รู้สึก อย่างนี้ไม่ใช่การมีสมาธิที่ดี

สมัยนี้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจมากขึ้นว่าไม่ควรให้เด็กอายุต่ำว่า 2 ขวบอยู่หน้าจอ โตขึ้นมา 2 ขวบดูได้แต่อยู่ในดุลพินิจของพ่อแม่ และเลือกช่องที่เหมาะสมกับเด็ก

การ์ตูนไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตซักเท่าไหร่ ครูเคทไปร่วมประชุมของกระทรวงวัฒนธรรม ประชุมเรื่องสื่อสำหรับเยาวชนคุณหมอท่านหนึ่งบอกว่าเด็กไม่ควรดูทีวีเลยจนกว่า 7 ขวบ โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตไม่ควรให้เล่นเลย เด็กควรได้พัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้าน ต้องพัฒนากล้ามเนื้อ ภาษา การปฏิสัมพันธ์กับคน การออกไปดูโลกกว้าง สัมผัสหลากหลายดีกว่านั่งอยู่หน้าจอ

เด็กเล็กจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนให้มากที่สุด เริ่มพบแล้วว่า เด็ก Gen Z ที่อยู่หน้าจอมาก ๆ เริ่มมีปัญหาซึมเศร้า แค่อายุ 12 เป็นแล้ว และขาดทักษะทางสังคมอย่างรุนแรง

คุณพ่อคุณแม่ที่ฝากคุณย่าคุณยายเลี้ยงหลาน ควรเตรียมอุปกรณ์ให้ลูก พวกดินสอสี แทนการให้อยู่หน้าจอ แล้วอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังถึงโทษของการอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน

ถ้าอยากให้ลูกฉลาดให้เขาเล่นกับเพื่อน ๆ กับพี่น้อง ของเล่นไม่ต้องซื้อก็ได้ หาเศษวัสดุมาชวนเขาทำเป็นของเล่นเอง ลูกจะเกิดการเรียนรู้ การเล่นอยู่กับดินกับทรายขุดดินก็จะเกิดการสังเกต ได้เล่นแต่ของเล่นสำเร็จรูปความคิดสร้างสรรค์จะขาดไป เวลาเล่นกันเองเด็กก็เริ่มมีการสมมติ เช่น เอาใบไม้มาทำเป็นเงิน

อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองย้อนดูว่าสมัยเด็ก ๆ เราเติบโตมาอย่างไร ให้ลูกเรามีโอกาสเล่นอย่างนั้นบ้างลูกจะได้เรียนรู้และไม่ติดอยู่หน้าจอ

เรียบเรียงจาก : สัมภาษณ์ ครูเคท – ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย
พิธีกร : แม่แอร์ Thelovelyair.com
Facebook : Mother&Care : Raising Happy Children with “Kru Kate” Live

motherandcare:
Related Post