แม่ๆ หลายคนเป็นกังวลกับกับดักที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ว่าฉันเป็นแม่ที่ดีหรือยัง ? เราจึงอยากมาเสริมความมั่นใจในความเป็นแม่กันให้มากขึ้นค่ะ
1. อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับแม่คนอื่น
แต่ละคนมีวิธีการเลี้ยงลูกที่ไม่เหมือนกัน ลูกเรามาเกิดกับเรา ธรรมชาติย่อมคัดสรรมาแล้วว่า แม่ลูกคู่นี้เหมาะที่จะดูแลกัน เราอย่าไปมองคนอื่นแล้วนำมาเปรียบเทียบ เอาแค่บางวิธีการที่เหมาะ และนำมาปรับใช้ให้กับเราและลูก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นตัวของตัวเอง
2. ดีที่สุดของคุณคือดีพอ
ข้อนี้มักจะเกิดจากการที่เรารู้สึกว่า เราไม่ดีพอ หรือเราพยายามไม่มากพอหรือเปล่า ถ้าคุณแม่ท่านไหนคิดแบบนี้อยู่ ลองมองไปที่ลูก แล้วดูสิว่าลูกเราต้องการอะไรเหมือนที่เราคิดหรือไม่ เช่น ลูกจะจำว่าเราไม่มีตังค์จะซื้อของเล่นแพงๆ ให้ลูก หรือลูกจะจดจำช่วงเวลาที่เขาได้ประดิษฐ์ของเล่น และเล่นสนุกสนานกับแม่มากกว่า
3. ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่าละเลยอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง เพราะแม่ที่ป่วยอยู่เสมอจะไม่มีพลังในการเลี้ยงลูก และเลี้ยงได้อย่างไม่เต็มที่ แต่ถ้าคุณแม่แข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ก็จะใช้เวลากับลูกได้เต็มที่ ทำกิจกรรมกับลูกได้อีกนาน
4. น้อยคือมาก
รู้ไหมว่าเด็กๆ สนุกกับชีวิตเรียบง่าย และจดจำของขวัญชิ้นเล็กๆ ที่แม่ให้ด้วยความรัก มากกว่างานปาร์ตี้ใหญ่โต หรืองานเลี้ยงวันเกิดที่สมบูรณ์แบบ เขาอาจจะไม่ลืมของขวัญชิ้นใหญ่ๆ ที่ได้รับ แต่เขาก็จะระลึกถึงของขวัญเล็กๆ ที่มีคุณค่าทางจิตใจของเขาเสมอ
5. การสื่อสารเป็นกาวใจระหว่างแม่กับลูก
ต้องเริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็ก แม่ต้องฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างตั้งใจ และใส่ใจ ฟังเพลงที่ลูกอยากฟังไปด้วยกัน นั่งเล่นเกมกับลูก แล้วคุณแม่จะได้รู้จักความนึกคิด ความสนใจของลูก พูดคุยกับลูกยามลูกต้องการ เมื่อลูกวัยรุ่น เขาจะไม่รู้สึกแปลกแยก หรือเคอะเขินที่จะพูดคุยความลับ ความชอบ ความไม่ชอบของตัวเองให้แม่รู้
6.ให้เวลาส่วนตัวกับลูกเป็นรายคน
ถ้าคุณมีลูกมากกว่า 1 คน อย่าลืมให้เวลากับลูกแต่ละคน แน่นอนว่าเวลาครอบครัวก็สำคัญ แต่การที่แม่จัดสรรเวลาให้กับลูกแต่ละคนได้เหมือนเวลาส่วนตัวสองต่อสอง จะทำให้ลูกๆ รู้สึกอิ่มเอม ไว้เนื้อเชื่อใจ ตัวแม่เองก็ได้สื่อสารกับลูกอย่างเต็มที่ เรียนรู้ลักษณะลูกแต่ละคนได้ในช่วงเวลาเหล่านี้
7. รู้จัก ‘เปลี่ยน’ สิ่งที่เคยเชื่อ
เราทุกคนย่อมมีภาพที่คาดหวังในสมอง แต่ถ้าลูกไม่เป็นอย่างที่เราคาดล่ะ คุณแม่จะเป็นแบบไหน ถ้าลูกไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการหรือคาดหวัง เราก็ต้องพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยอมรับในตัวตนของลูก ยอมรับความผิดหวังของตัวเอง เชื่อมั่นในแบบที่ลูกเป็นมากกว่า
8.ทุกอย่างไม่ต้องดีหมดก็ได้
บางครั้งคุณแม่อาจจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็น Super Woman อยู่หรือเปล่า ตื่นเช้ากว่าคนอื่นเพื่อเตรียมข้าวเช้าที่ครบถ้วนให้ลูก จัดการลูกไปโรงเรียน จัดการงานบ้านต้องเรียบร้อย งานตัวเองก็ต้องรับผิดชอบ แน่นอนว่าในความเป็นจริงยากมากที่ทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ เราอาจไม่ได้เป็นแม่ที่ทำกับข้าวเก่ง แต่เราอาจเป็นแม่ที่ตกแต่งจานอาหารได้เริ่ดมาก ฉะนั้น คุณแม่ต้องรู้จักผ่อนคลาย ปล่อยวางบ้าง ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องเนี้ยบเสมอ
9.จะทำโทษลูกต้องแน่ใจว่า ทำเพื่อให้ลูกรู้จักความผิดของตัวเอง
เพราะวินัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและทิศทางเดียวกัน และการลงโทษลูกนั้นต้องมีสาเหตุจากการที่ลูกทำผิด และทำให้ลูกเข้าใจด้วยว่า ทำผิดอะไรถึงต้องโดนลงโทษ
10.ยอมให้ลูกผิดพลาด
แม่ต้องไม่วิ่งเข้าไปอยู่หลังลูกเพื่อช่วยลูกแก้ไขเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ แน่นอนว่าแม่ต้องอยู่ใกล้ลูก เพื่อเวลาที่ลูกหันมามองจะเห็นแม่อยู่เสมอ การยอมให้ลูกล้มบ้าง เพื่อให้เขารู้ว่าเขาทำอะไรผิด และจะหาทางแก้ได้อย่างไร ถ้าแม่คอยแก้ปัญหาให้ลูกอยู่เสมอ ลูกจะไม่มีวันเรียนรู้การแก้ปัญหาเองได้เลย แล้วถ้าสักวันที่แม่ไม่อยู่กับลูกแล้ว ลูกเราจะอยู่อย่างไร
จำไว้ว่า การเป็นแม่ที่ดี ไม่ได้เป็นเรื่องของมุมมอง แต่เป็นเรื่องความจริงที่คุณกระทำว่าดีพออยู่แล้วนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง : www.everythingmom.com