เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นช่วงวัยที่เด็กเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ และเป็นวัยที่เริ่มไปโรงเรียนทำให้ต้องอยู่ใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งหากมีเด็กในห้องเรียนป่วย 1 คน ก็มีโอกาสที่จะติดต่อไปยังเพื่อนๆ ร่วมห้องได้
และอย่างที่รู้กันแบบปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันมีโรคติดต่อในเด็กเยอะ และ ซับซ้อนขึ้น โรคต่างๆ มีความทวีความรุนแรงขึ้น
สำหรับบทความนี้ ขอกล่าวถึง 5 โรคระบาดในเด็ก ที่เป็นอันตรายต่อเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายต้องเฝ้าระวัง และดูแลค่ะ
1.โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคภาวะติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) โดยมี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค คือ เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกกัดคน จะถ่ายทอดเชื้อให้คนทำให้เกิดอาการ ยุงลายนี้มักจะเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ หรือหลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น
อาการที่สังเกตได้
- มีอาการไข้สูงลอยอย่างต่อเนื่อง 39-41 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2-7 วัน,
- หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา,
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา,
- มีเลือดออก เช่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และในรายที่อาการรุนแรงอาจพบว่ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดเกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
การป้องกันไข้เลือดออก
- ป้องกันลูกน้อยได้โดยไม่ให้ยุงกัด
- ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่
- เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
- ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย และปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย
2.โรคไข้หวัดใหญ่
อากาศที่เย็นชื้นในช่วงฤดูฝน ทำให้โรคกลุ่มไวรัสที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติมาก เด็กเล็กๆ ที่อายุ 0-5 ปี และ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสเสี่ยงสูงมากในการเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยมีอาการที่รุนแรงกว่ากลุ่มอายุช่วงอื่น
อาการของไข้หวัดใหญ่โดยรวม
- คัดจมูก มีน้ำมูกใส
- จาม คอแห้ง เจ็บคอ ไอแห้ง ไอมีเสมหะ
- มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ทุกปี
- ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ
- รับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย
3.โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
เป็นโรคติดเชื้อที่มีอาการคล้ายหวัด แต่บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้เลยทีเดียว ไวรัสชนิดนี้ เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งอาการบางอย่างของไวรัส RSV นี้อาจคล้ายกับอาการของไข้หวัด เช่น มีไข้ไอจามอาจจะทำให้พ่อแม่แยกความแตกต่างของอาการหวัดและไวรัสได้ยาก
อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV
- เด็กมีอาการหอบเหนื่อยและหายใจลำบาก
- หายใจเร็ว และมีเสียงครืดคราด ๆ
- ไอหนักมาก ๆ
- มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- มีเสมหะมาก
- มีไข้
- หากลูกมีโรคประจำตัวอย่างหอบหืด ภูมิแพ้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
การป้องกัน
- ให้ลูกหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
- ฝึกเด็กใช้ของส่วนตัว แยกชุด เซต จาน ชาม แก้วน้ำ ต่างๆ
- หากลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง
4.โรคมือเท้าปาก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Enterovirus (EV) หรือ Coxackie เด็กมักได้รับเชื้อที่สามารถแพร่ผ่านทางปาก จากการปนเปื้อนเชื้อที่มือ ของเล่น น้ำ อาหาร โดยผู้ป่วยแพร่เชื้อได้ 2-3 วัน ก่อนมีอาการจนถึง 1-2 สัปดาห์ หลังมีอาการจะพบเชื้อในอุจจาระได้หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน และหลังได้รับเชื้อ 3-6 วันจะปรากฏอาการ ส่วนมากมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
อาการที่สังเกตได้
- มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2-3 วันจะมีอาการเจ็บปาก เพราะในปากมีตุ่มแดงทั้งที่ลิ้น เพดานปากและกระพุ้งแก้ม แล้วกลายเป็นตุ่มพองใสในที่สุด เมื่อตุ่มแตกออกจะเป็นแผลหลุมตื้นๆ
- มีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และก้น แต่จะไม่คันไข้จะลงภายใน 3 – 5 วัน อาการของเด็กก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
- เด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะมีอาการเจ็บปากมาก แม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
- พ่อแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจจะชักได้ โดยบางรายอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ
การป้องกัน
- สอนเด็กล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และป้องกันการแพร่เชื้อโดยไม่ใช้อุปกรณ์และภาชนะในการรับประทานและดื่มน้ำร่วมกับผู้อื่น จะให้ดี ควรมีกระติกน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้ที่โรงเรียน
- หากไม่จำเป็น ไม่ควรพาเด็กไปที่แออัด
- ดูแลลูกในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ปลูกฝังและฝึกให้ลูกล้างมือก่อนกินข้าว และใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
5.โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีปัจจัยเสี่ยงสูง เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจทำให้เกิดความพิการหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ
อาการของโรค
- อาการโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก อาจไม่มีลักษณะจำเพาะที่ชัดเจน ในระยะแรกเริ่มอาจคล้ายคลึงอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย ฯลฯ
- ร้องไห้ ตาไวต่อแสง ตัวและลำคอแข็ง กระหม่อมนูน หรืออาจมีอาการซึม ชัก เฉื่อยชา เคลื่อนไหวน้อย และแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
- ในเด็กเล็กจะมีระยะเวลาดำเนินโรคเร็วมาก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีค่ะ
การป้องกัน
- ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน
แหล่งข้อมูล