ปัญหาการขับถ่ายของลูก นอกจากเป็นอาการไม่ปลื้มของแม่แล้ว ยังสร้างความกังวล ปนสงสัยอยู่บ่อยๆ ว่าแบบไหนที่เข้าค่ายเป็นปัญหาสุขภาพของลูกน้อยที่แม่อยากรู้
1) ท้องผูก
คุณแม่ส่วนใหญ่มักมีคำถาม ข้อสงสัยเรื่องอาการของลูกเข้าข่ายท้องผูกหรือเปล่า ที่จริงแล้วในเด็กเล็กที่กินนมแม่ อุจจาระจะนุ่ม ถ่ายได้ง่ายไม่ค่อยท้องผูก ส่วนเด็กที่กินนมผสมมักจะมีปัญหาท้องผูกได้บ่อยกว่า และนอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่มีส่วนทำให้เด็กท้องผูกได้
สำหรับความเข้าใจที่ว่า ลูกต้องอึทุกวัน ถ้าไม่อึ สรุปว่าลูกท้องผูกนั้น ความจริงแล้วเด็กไม่จำเป็นต้องอึทุกวัน หรือวันละหลายครั้งหรอกค่ะ เพราะระบบขับถ่ายของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจอึตรงเวลาทุกวัน แต่บางคนก็ไม่แน่นอน อาจเลยเถิดไปถึง 2 วันค่อยถ่ายก็มีค่ะ สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตคือ ถ้าลูกยังร่าเริงดีมีสุขภาพแข็งแรง ไม่แสดงอาการอึดอัดขณะที่อึ รวมถึงลักษณะของอุจจาระที่ยังนิ่ม ขับถ่ายสะดวก ก็แสดงว่าลูกไม่ได้ท้องผูก และบางครั้งอาจพบว่าอุจจาระแข็งเป็นก้อนระหว่างที่ป่วยหรือมีไข้ ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าร่างกายพยายามชดเชยการสูญเสียน้ำ ด้วยการดูดซึมน้ำจากลำไส้ใหญ่นั่นเอง แต่เมื่อลูกหายป่วยอาการท้องผูกก็จะหายไป
แบบนี้…ท้องผูกแน่
สังเกตจากลักษณะของอุจจาระ เพราะถึงลูกจะอึทุกวัน แต่ถ้าอุจจาระแข็งเป็นก้อนแข็งๆ เม็ดๆ เหมือนอึแพะ หรืออึยากลำบาก ก็ถือว่าท้องผูก บางครั้งอาจมีเลือดปนติดออกมาด้วย ที่เป็นแบบนี้เพราะที่รูทวารเป็นแผล เวลาเบ่งถ่ายลูกจะรู้สึกเจ็บปวดมาก จึงพยายามกลั้นเอาไว้ ทำให้อุจจาระมีขนาดใหญ่ และแข็งมากขึ้น
อาการท้องผูกของลูกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ถึงไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจหรือปล่อยไว้นานๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องผูกแบบเรื้อรัง คือ ถ่ายแบบกะปริบกะปรอย ถ่ายไม่หมดในแต่ละครั้ง บางครั้งรู้สึกอึดอัดในท้องและปวดท้อง ก็ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพราะถ้าทิ้งไว้นานมีแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของลูก
เมื่อลูกท้องผูกควรดูแลลูกอย่างไร
- ให้ลูกดื่มนมแม่
- เมื่อถึงวัยเริ่มอาหารเสริมให้ลูกกินอาหารที่มีกากใย ประเภทผักใบเขียว เช่น ฟัก ใบตำลึง และผลไม้สด เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ จะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น
- ดื่มน้ำสะอาด น้ำผลไม้รับประทานได้ แต่ควรผสมให้เจือจาง
- ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ
2) ท้องเสีย
อาการท้องเสียหรือท้องร่วงในเด็กเล็กช่วงขวบปีแรกนั้น เกิดได้จากการติดเชื้อภายในทางเดินอาหาร มีทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้การเคลื่อนที่ของลำไส้ผิดปกติ เกิดการระคายเคือง ลำไส้อักเสบ สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอันตราย ทำให้เด็กสูญเสียน้ำในร่างกาย
การถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งของเด็กที่กินนมแม่ คุณแม่ฅอาจเข้าใจว่าลูกท้องเสีย ที่จริงแล้วนมแม่มักทำให้ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย มีอุจจาระเละๆ เป็นสีเหลืองทอง และเมื่อถึงวัยเริ่มอาหารเสริม ลูกอาจอุจจาระเหลวและอึบ่อยขึ้น เป็นเพราะ ลูกอาจได้รับอาหารที่มีกากใยอาหารมากเกินไป แต่ถ้าอุจจาระไม่เหลวเป็นน้ำและไม่ได้อึบ่อยครั้ง คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกค่ะ
แบบนี้…ท้องเสียแน่
ในเด็กเล็กที่มีอาการท้องเสีย จะถ่ายอุจจาระบ่อยและมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ ตั้งแต่ 3 ครั้งใน 1 วัน หรือถ่ายเหลวมีมูกเลือดปนอย่างน้อย 1 ครั้ง ในเด็กบางคนมีอาการอาเจียนและเป็นไข้ร่วมด้วย ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย ถ้าร่างกายขาดน้ำมากอาจเกิดอาการช็อกและถึงขั้นเสียชีวิตได้
เมื่อลูกท้องเสียควรดูแลลูกอย่างไร
- ถ้าลูกมีอาการท้องเสียนานเกิน 6 ชั่วโมง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- สำหรับเด็กที่กินนมแม่ สามารถกินนมแม่ต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุด
- ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอส เมื่อถ่ายเหลว เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- ตรวจดูว่าลูกมีไข้หรือไม่ ถ้ามีให้เช็ดตัวลดไข้
- ระมัดระวังเรื่องความสะอาด ล้างมือทุกครั้งหลังออกจากห้องน้ำ หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม จะช่วยในเรื่องสุขอนามัยที่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการพิถีพิถันต่อความสะอาดของขวดนม และอุปกรณ์การเตรียมอาหารให้ลูกทุกครั้ง