ตลอดปี 2020 มานี้ ประชากรทั้งโลกเผชิญกับไวรัสตัวร้าย Covid-19 ที่สถิติมีอันดับสูงขึ้นๆ ในขณะที่ทีมวิจัยก็เร่งในการสร้างวัคซีน ในระหว่างนี้ ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป ทั้งการดูแลตัวเองให้รอดปลอดภัยจากไวรัสร้ายนี้ ผู้ใหญ่ก็มีหลักป้องปันที่ปฎิบัติได้แบบเป็นกฎเกณฑ์ แต่สำหรับเด็กเล็กๆ พ่อแม่ต้องดูแลทุกสิ่งรอบตัว สร้างพื้นที่ปลอดภัย หาทางปกป้องลูกน้อยกันสุดฤทธิ์ค่ะ
อาการของเด็กเล็กที่ติดเชื้อ Covid-19
กลุ่มเด็กที่เสี่ยง และหากติดเชื้อจะอันตรายมากคือ เด็กทารกจนถึงเด็กเล็กอายุไม่เกิน 5 ปี หากติดเชื้อลักษณะอาการจะเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 °C ร่วมกับมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หรือหายใจหอบเหนื่อย ร่วมกับในช่วง 14 วันที่ผ่านมามีประวัติเดินทางไปหรือมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อนี้อย่างต่อเนื่อง หรือเด็ก ๆ อาจจะมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เข้าข่ายสงสัยหรือยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน หรือมีประวัติไปในที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด ที่ขนส่งสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
5 แนวทางสร้างพื้นที่ปลอดภัย ป้องลูกจาก Covid-19
เผื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้ฝึกลูกน้อยให้เป็นนิสัย อย่างน้อยเพื่อความปลอดภัย เพื่อความมั่นใจในเวลาที่ลูกอยู่ที่โรงเรียน หรือ ไปสถานที่ใดๆ ที่ทำให้เล็ดลอดสายตาพ่อแม่
1) ฝึกการล้างมือและการรักความสะอาด ทุกครั้งที่กลับเข้าบ้าน ฝึกลูกล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งที่จะหยิบของกิน หรือ เล่นสักพักก็ล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส ควรล้างให้นานอย่างน้อย 20 วินาทีหรือให้เด็ก ๆ ร้องเพลง happy birthday 2 รอบก็จะครบ 20 วินาทีพอดี
2) ฝึกให้ลูกล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ในกรณีที่ออกนอกบ้าน เหมือนเป็นอุปกรณ์พกพาที่ต้องมีและเป็นสิ่งของจำเป็น ซึ่งตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรสำหรับเด็กมากมายหลายแบรนด์ค่ะ
3) ฝึกการใช้ของส่วนตัว ไม่ใช่ของร่วมกันบุคคลอื่น เริ่มจากที่บ้านได้เลยค่ะ ส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเคร่งครัด
4) ฝึกนิสัยลูกไม่ให้ใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยตรง โดยเฉพาะการขยี้ตา จมูก ปาก จะว่าเป็น New Normal ด้านนิสัยมนุยชาติแบบหนึ่งก็ได้ค่ะ
5) ฝึกลูกให้ชินกับการใช้หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ให้มองเป็นสิ่งของต้องใช้ คล้ายๆ รองเท้า เสื้อผ้า ได้เลยค่ะ ส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่ ทำได้ยอมรับได้เลยว่า โลกจะไม่กลับมาสดใส ไม่มีหน้ากากแบบแต่ก่อนแล้ว นอกจากโควิด19 เรายังมี PM.2.5 อีก มลพิษ ที่เป็นภัยมหันต์ทั้งนั้น
การใส่หน้ากากอนามัยในเด็ก
เด็กๆที่ร่างกายแข็งแรงดี อาจใช้หน้ากากผ้าได้ โดยต้องมีขนาดพอดี คลุมจมูก ปากและคาง รวมทั้งกระชับใบหน้า อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สวมหน้ากากหรือแผ่นพลาสติกใสคลุมหน้า (face shield) ให้กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี รวมถึงเด็กที่ถอดหน้ากากเองไม่ได้หากหายใจไม่ออก เพราะเด็กกลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงในการขาดอากาศหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งจนเป็นอันตรายได้ และ face shield อาจบาดใบหน้า ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กอาจใช้ผ้าคลุมรถเข็น หรือตระกร้าใส่เด็กเพื่อกันละอองฝอยที่อาจมีเชื้อโรคแทน
สำหรับเด็กที่มีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น มีอาการไอหรือจาม อาจพิจารณาใส่หน้ากากอนามัย
ข้อควรระวังในการใส่หน้ากากอนามัยในเด็ก
- เด็ก ๆ ควรได้รับการสอนวิธีใช้หน้ากากให้ถูกต้อง นั่นคือต้องล้างมือให้สะอาดก่อนใส่และหลังถอดหน้ากาก
- ไม่จับ สัมผัสบริเวณพื้นผิวด้านหน้าของหน้ากากอนามัยในขณะที่ใส่
- เวลาถอดจะต้องจับที่หูหน้ากากทั้งสองข้าง
- ในกรณีเป็นหน้ากากผ้า คุณพ่อคุณแม่ควรซักทำความสะดวกหน้ากากทุกวัน
- ในกรณีหน้ากากอนามัย เมื่อถอดควรนำไปทิ้งในภาชนะที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ที่สำคัญ ทั้งเด็ก ๆ และผู้ปกครองจะต้องล้างมือทันทีที่สัมผัสกับหน้ากากที่ใช้แล้ว
เพราะลูกน้อยคือศูนย์กลางของบ้าน คือ สุดที่รักของคนในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ต้องเคร่งครัดเรื่องนี้ค่ะ