X

เมื่อคุณแม่ช่างวิตกจริต..

“ต๊าย..ตาย..รองเท้าเปื้อนโคลนหมดแล้วลูก”

เสียงคุณแม่ยังสาววัยสามสิบต้นๆ ในชุดกีฬาดูทะมัดทะแมงพูดกับลูกชายวัยสามขวบ ยังไม่ทันสิ้นเสียงของคุณแม่ เสียงของลูกชายอีกคนก็ดังลั่นมาจากอีกด้านที่อยู่ไม่ไกลนัก

“มดกัด มดกัด….” เด็กชายวัยห้าขวบร้องพลางขยับเท้าไปมาพลาง มองเผินๆ เหมือนเต้นเบรคแด้นซ์ฝีมือใกล้เคียงมืออาชีพ

ไม่กี่วินาทีถัดจากนั้นเสียงคุณแม่ก็ประสานรับ

“แย่แล้ว…แย่แล้ว มดกัด มดกัด แตนไปดูน้องบอมหน่อยซิ” คุณแม่หันไปสั่งพี่เลี้ยงให้เข้าไปช่วยเหลือบอมเด็กชายวัยห้าขวบโดยด่วน

ภาพที่เห็นในขณะนี้ก็คือ มีนักเต้นอยู่สองคนคือเด็กชายวัยห้าขวบและสาวใหญ่วัยสามสิบกว่า แต่ที่ดูตื่นตระหนกมากกว่า น่าจะเป็นสาวใหญ่วัยสามสิบกว่าครับ

เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นที่สวนรถไฟซึ่งเป็นสวนสาธารณะยอดนิยมสำหรับครอบครัวคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน และเหตุการณ์นี้ก็น่าจะทำให้คาดเดาได้ว่าผู้เป็นแม่คงมีความกังวล ความกลัว ความไม่แน่ใจ และความตื่นตระหนกอยู่กับตัวจนกลายเป็นบุคลิกที่พร้อมจะแสดงออกให้ได้รับรู้อยู่เสมอ เพราะขนาดผมเองที่กำลังขี่รถจักรยานผ่านกับลูกสาวเพียงไม่กี่นาทียังเป็นพยานรู้เห็นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลูกสาววัยเจ็ดขวบของผมยังเผลอแสดงสีหน้าวิตกกังวลร่วมด้วยอยู่พักใหญ่ ลูกชายสองคนของคุณแม่ซึ่งอยู่กับคุณแม่ที่วิตกจริตเช่นนี้ เห็นท่าจะน่าเป็นห่วงไม่ใช่น้อย

แม้ว่าครอบครัวนี้จะไม่ได้มาปรึกษากับผมโดยตรง แต่ก็เริ่มเห็นเด่นชัดว่าอาการตื่นตระหนกเริ่มปรากฏที่บอม ลูกชายคนโตแล้วเพราะโดนมดกัดนิดเดียวแต่ร้องโวยวายราวกับโดนสุนัขตัวใหญ่ขย้ำ

ทำไมลูกจึงเป็นเช่นนี้?

ประการแรกลูกเลียนแบบปฏิกิริยาจากสิ่งที่เห็น เขาไม่ได้ตั้งใจเลียนแบบแต่เป็นการทำงานของสมอง เลียนแบบปฏิกิริยาตื่นตระหนกของคุณแม่

แม่ทนุถนอมลูกเกินไป ด้วยเพราะแม่กังวลกับสิ่งรอบตัว ลูกจึงไม่เรียนรู้ที่จะอดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น

แม่ไม่อนุญาตให้ลูกได้จัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่แม่ก็พ่อหรือพี่เลี้ยงจะคอยช่วยเหลือ เข้าทำนองเพลงของพี่เบิร์ดเขา “…..จะไปในทันใดจะตรงไปจะใกล้ไกล ถ้าหากเป็นเธอจะรีบไป ให้เธอได้ความสบายใจ….”

แม่ได้ส่งสารบางอย่างว่า โลกนี้ไม่น่าปลอดภัย โลกนี้น่ากลัว โลกนี้น่าระแวงสงสัย ผมไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแม่ท่านนี้โดยตรง ได้แต่คาดเดาจากโหงวเฮ้ง และประสบการณ์ที่เคยพบคุณแม่ลักษณะนี้มาบ้าง คาดว่าที่บ้านคุณแม่คงสั่งสอนและห้ามปรามลูกอยู่เสมอ

แม่กับลูกมีแถบเส้นของความผูกพันที่ถ่ายทอดไปมาซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าอยู่ ลูกจึงซึมซับความรู้สึกที่แม่มีได้ง่าย ดังนั้นหากแม่กังวลลูกก็จะรู้สึกได้โดยง่าย

แม่ควรช่วยลูกอย่างไรดีหากลูกเข้าข่ายขี้กลัว ขี้กังวล ขี้ตระหนก ประการแรกควรพิจารณาที่ตัวคุณแม่ก่อนว่าตัวเรามีลักษณะที่ขี้กังวลหรือไม่ ท่าทีของเราเป็นไปในลักษณะที่ตื่นตระหนก หรือสติแตกโดยง่ายหรือไม่ หากใช่ก็ควรมองหาสาเหตุและรีบแก้ไข

ถัดมาคงต้องรีบปรับการเลี้ยงดูให้ลูกได้มีโอกาสเผชิญโลกมากขึ้นโดยที่ไม่มีความกังวลของแม่มาเป็นข้อจำกัดของการเล่นและเรียนรู้

อนุญาตให้ลูกได้เล่นอย่างหลากหลาย อย่างสม่ำเสมอ เพราะโลกของการเล่น ช่วยให้ลูกได้ยืดหยุ่น เป็นตัวของตัวเอง ได้หัดแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้และมีความสุข

ท้ายสุดก็คือการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับลูกผ่านการมีเวลากับลูก การเล่นกับลูก การชื่นชมลูก ซึ่งนั่นก็จะทำให้เขามีความมั่นใจในตนเองและมั่นคงในอารมณ์ในที่สุด

เด็กๆ พัฒนาตัวตนผ่านสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูที่กล่อมเกลาเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การเลี้ยงดูเป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาก็มักเป็นเช่นนั้น

บทความโดย : นพ.จอม ชุมช่วย  จากคอลัมน์ Dotor’s note นิตยสาร Mother&Care

Categories: Meet Doctor
motherandcare: