การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกน้อยฟัง เป็นวิธีใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวที่อบอุ่นและช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างดีเยี่ยม เป็นการพาลูกน้อยท่องโลกกว้างผ่านตัวอักษร อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ซึ่งการอ่านจะช่วยให้เขาเข้าใจโลกและผู้คนได้ง่ายขึ้น
ประโยชน์ของการอ่านนิทานให้ลูกฟัง
การอ่านนิทานมีประโยชน์ในการช่วยพัฒนาสายสัมพันธ์อันใกล้ชิด ถ้าคุณพ่อคุณแม่โอบกอดเขาไว้บนตักขณะอ่านไปด้วย ลูกจะรับรู้ได้ถึงความรักความเอาใจใส่ ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการทางด้านอารมณ์และการเข้าสังคม แม้จะอยู่ในวัยที่เด็กยังไม่สามารถโต้ตอบได้ แต่ถ้อยคำต่างๆ ที่ได้ยิน ล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการใช้ภาษาให้ดียิ่งขึ้นในภายหลัง และทักษะด้านภาษาที่ดีก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ควรเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังตอนไหนดี
ช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์จนถึงอายุ 8 ปี เป็นช่วงเวลาที่สมองมนุษย์เติบโตและพัฒนารวดเร็วที่สุด ดังนั้น เราจึงเริ่มอ่านนิทานให้ลูกน้อยฟังได้ตั้งแต่ที่เขายังอยู่ในท้อง นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ถือกำเนิด ลูกน้อยก็รักการฟังเสียงของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องเพลง เสียงพูดคุย หรือเสียงเล่านิทาน ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่ายิ่งอ่านนิทานให้ลูกน้อยฟังเร็วเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กๆ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เด็กแรกเกิดอาจยังไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด แต่จังหวะและโทนเสียงที่แตกต่าง ก็มีส่วนในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการฟังซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ควรอ่านนิทานให้ลูกฟังอย่างไร
ช่วงที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกอ่านหนังสือหรือคอนเทนต์ตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่สนใจได้ตามชอบ หากคุณพ่อคุณแม่เพลิดเพลินกับสิ่งที่อ่าน ลูกน้อยก็มีแนวโน้มที่จะสนุกไปด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อลูกน้อยโตขึ้น เริ่มมีพัฒนาการด้านการมองเห็น เขาจะสนใจหนังสือภาพที่มีสีสันสดใสลายเส้นคมชัด ซึ่งบางทีอาจหยิบจับหรือเอาเข้าปาก จึงควรเลือกหนังสือที่แข็งแรงไม่ฉีกขาดง่าย เวลาเลือกซื้อหนังสือนิทาน ควรเลือกเล่มที่มีฟังก์ชันสนุกๆ ซ่อนอยู่ เช่น สามารถเปิดประตูหรือหน้าต่างเพื่อดูภาพที่ซ่อนอยู่ในนั้น และหากมีเพลงประกอบด้วยก็จะยิ่งดี เพราะเพลงเป็นสิ่งที่จดจำง่ายและทำให้เด็กๆ สนุกมากขึ้น
เคล็ดลับเกี่ยวกับการอ่านนิทานให้ลูกน้อยฟัง
ข้อแรกคือ การฟังซ้ำๆ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี ดังนั้น จึงควรเลือกนิทานที่มีคำซ้ำเยอะๆ หรืออ่านนิทานเรื่องโปรดให้เขาฟังบ่อยๆ โดยเปลี่ยนโทนเสียงไปตามอารมณ์ของเนื้อหา อาจจะลองดัดเสียงตามคาแรกเตอร์ตัวละครด้วย เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ข้อที่สอง ตั้งคำถามกับลูกน้อย แม้ลูกยังเด็กเกินกว่าจะโต้ตอบกับเราได้ แต่เราก็สามารถกระตุ้นพัฒนาการของเขาด้วยคำถามง่ายๆ เพราะการโต้ตอบมีส่วนช่วยให้เด็กจดจำและเข้าใจความหมายคำศัพท์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น ในภาพนี้มีลูกบอลอยู่สองสี ลูกชอบสีไหนมากกว่ากัน เป็นต้น
เปิดนิทานในไอแพดให้ลูกฟังดีไหม
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กดูทีวีหรือใช้เวลากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนอายุสองขวบ เพราะสื่อเหล่านี้มักมีฟังก์ชันที่อื่นๆ ที่ทำให้สมาธิของเด็กเบี่ยงเบนออกจากเนื้อเรื่อง ยิ่งหากปล่อยให้ลูกดูหรืออ่านนิทานตามลำพังบ่อยๆ เด็กก็มีแนวโน้มที่จะสนใจไอแพดมากกว่าคุณพ่อคุณแม่ ถ้าจะให้ลูกดูไอแพดควรจำกัดเวลาครั้งละไม่เกิน 10-15 นาที และควรนั่งดูกับเขาเพื่อพูดคุยระหว่างที่ดูไปด้วย เช่น ทำเสียงตลกซ้ำๆ เลียนแบบคลิป เต้นตามท่าทางตัวละคร เป็นต้น
สอนสะกดคำในระหว่างอ่านนิทานดีไหม การอ่านนิทานให้ลูกน้อยฟังครั้งแรกๆ ควรทำให้เขารู้สึกสนุกกับเรื่องราวอย่างเต็มที่ และมีความสุขที่ได้แบ่งปันช่วงเวลาดีๆ ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ อย่าเพิ่งรีบร้อนสอนเรื่องการออกเสียงและสะกดคำ เพราะอาจทำให้ให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายได้ เมื่อเขาโตในระดับหนึ่ง เด็กจะมีความพร้อมในการเรียนรู้ก้าวต่อไป เขาอาจพยายามอ่านด้วยตัวเอง ลองสะกดคำง่ายๆ หรือถามคำศัพท์ที่สนใจ เมื่อถึงเวลานั้น คุณพ่อคุณแม่จึงค่อยสอดแทรกบทเรียนด้านภาษาเข้าไปได้ได้อย่างแยบยล