เมื่อเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นกับลูกวัยกำลังซน เช่น หกล้ม เดินชนโต๊ะ ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักแสดงปฏิกิริยาตกอกตกใจออกมาโดยอัตโนมัติ ตามสัญชาตญาณความห่วงใยที่มีต่อลูก ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็มักจะมองหาคุณพ่อคุณแม่ทันทีที่รู้สึกเจ็บ กลัว หรือตกใจ ด้วยเหตุนี้ท่าทีที่ผู้ปกครองแสดงออก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดว่าเด็กน้อยจะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร
หากคุณพ่อคุณแม่โวยวายเสียงดัง เด็กจะรู้สึกว่าการหกล้มเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งนั่นอาจทำให้เขายิ่งร้องไห้จ้าเสียงดังลั่น ดังนั้น อันดับแรกผู้ปกครองจึงไม่ควรโวยวาย แม้จะรู้สึกใจหล่นลงไปอยู่ที่ตาตุ่มก็ต้องสงบสติอารมณ์ไว้ เพื่อแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่าการหกล้มเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต เมื่อล้มแล้วก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ ยังไม่ควรซ้ำเติมลูกด้วยการตำหนิว่าไม่ระมัดระวังหรือซุกซนเกินเหตุ เพราะเขาอาจสูญเสียความมั่นใจและรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ถ้าเด็กๆ ล้มโดยไม่ได้บาดเจ็บอะไรมากนัก คุณพ่อคุณแม่ควรยืนมองอยู่ห่างๆ และคอยให้กำลังใจ เมื่อเขาสามารถลุกขึ้นเองได้ ก็เอ่ยปากชมสักหน่อยว่า “เก่งมากๆ เลยนะลูก ที่ล้มแล้วลุกขึ้นเองได้”
แต่ถ้าลูกร้องไห้ออกมาด้วยความรู้สึกเจ็บ ก็ไม่ควรไปโกหกว่า “ไม่เจ็บหรอก ไม่เห็นเป็นอะไรเลย” เพราะเด็กจะรู้สึกว่าเขาถูกปฏิเสธตัวตนและไม่ได้รับการยอมรับความรู้สึก อาจทำให้เขายิ่งร้องไห้และไม่กล้าบอกความรู้สึกที่แท้จริงกับคุณพ่อคุณแม่ในครั้งต่อๆ ไปที่เกิดปัญหา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการโอบกอดและปลอบโยนโดยไม่โอ๋มากเกินไป ไม่ต้องบอกเขาว่าจะตีพื้นหรือโต๊ะที่ทำให้หนูเจ็บ หรือกล่าวโทษพี่เลี้ยงที่ดูแลไม่ดี เพราะยิ่งจะเป็นการปลูกฝังนิสัยโทษคนอื่นเมื่อเกิดความผิดพลาด แค่ถามลูกว่าเขาโอเคไหม อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดของหนู และไม่นานความเจ็บนี้ก็จะหายไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ยิ่งถ้าไม่ได้บาดเจ็บรุนแรง ร้องไห้ไม่กี่นาทีเดี๋ยวเด็กๆ ก็กลับไปวิ่งปร๋อได้แล้ว สิ่งสำคัญในการประคับคองลูกน้อยยามหกล้ม คือการสอนให้เขาตระหนักว่าถ้าล้มแล้วจะเจ็บ ครั้งต่อไปต้องระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงสร้างความมั่นใจให้ลูกรู้สึกว่าเขาเก่งพอที่จะลุกขึ้นใหม่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าในอนาคตจะต้องหกล้มอีกกี่ครั้ง หรือต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ก็ตาม