คุณพ่อคุณแม่หลายคนสงสัยมากว่า “พร่ำสอนลูกไปมากมายทำไมลูกไม่จำหรือไม่ทำตามสักที” หลายคนคิดว่าที่ลูกไม่ทำตามคำสั่งสอนนั้นเป็นเพราะลูกนั้นดื้อ แล้วเคยคิดทบทวนบ้างไหมคะว่า ที่ว่าเด็กดื้อนั้น ดื้อเหมือนใคร ….คำตอบก็คือ เด็กๆดื้อเหมือนคนที่เลี้ยงดูเขามา เพราะไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพยายามพร่ำสอนลูกด้วยหลักการหรือหลักธรรมใดใด แต่สุดท้ายแล้วลูกจะนำเอา “วิธีการ” ที่เราใช้มาเป็น “รูปแบบ” ที่เด็กๆจะจดจำและนำไปใช้เป็นแบบอย่างเสมอ ทั้งวิธีการในด้านบวกและด้านลบ
ยกตัวอย่างให้เห็นกันได้โดยง่าย เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้สึกโกรธและต้องการให้ลูกหยุดพฤติกรรมที่กำลังทาอยู่ หลายครั้งที่พ่อแม่ตะคอกหรือส่งเสียงดังใส่ลูก และแน่นอนว่าลูกเองก็จดจาพฤติกรรมเช่นนั้นมาด้วย เมื่อเขาโกรธโมโหหรือต้องการให้คนรอบข้างหยุดพฤติกรรมต่างๆ เด็กๆจะตะคอก ตวาด เช่นเดียวกับเวลาที่คุณพ่อคุณแม่โมโหเช่นกัน ดังนั้น ต่อให้คุณพ่อคุณแม่เพียรสอนสั่งเท่าไหร่ว่าอย่าตวาดหรือส่งเสียงดังก็คงจะไม่ได้ผล
แล้วจะทำอย่างไรถ้าพ่อแม่มีมุมที่ไม่โอเคอยู่บ้าง
คนเป็นพ่อเป็นแม่จะโกรธลูกไม่ได้เลยหรือ โกรธหรือโมโหลูกแล้วจะต้องทำอย่างไร ลูกถึงจะได้ต้นแบบที่ดีไปเป็นแบบอย่าง นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของพ่อกับแม่ทุกคน
ความโกรธนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ดังนั้นไม่แปลกที่คุณจะโกรธให้ลูกเห็น แต่มันจะดีกว่ามากหากคุณแสดงถึง “วิธีการจัดการความโกรธ” ให้เขาเห็นด้วย วิธีการที่ง่ายดายที่สุดคือ อย่าปล่อยให้ตัวเองอาละวาดเมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่ากาลังโกรธ ให้บอกเด็กๆไปว่า คุณกำลังโกรธและต้องการเวลาสักหน่อยเพื่อระงับอารมณ์โกรธนี้ ก่อนจะกลับมาจัดการกับปัญหาหรือคุยกับเขาอีกครั้ง “แม่กำลังรู้สึกโกรธมาก แม่อยากจะอยู่คนเดียวสักครู่ เดี๋ยวเราค่อยคุยกัน” ด้วยวิธีการนี้ เด็กๆจะเรียนรู้ว่าความโกรธนั้นเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้กับทุกคน และคุณมีวิธีการจัดการความโกรธด้วยการขอเวลาเพื่อสงบอารมณ์ นอกจากจะได้เห็นวิธีการแล้ว เด็กๆจะเรียนรู้ด้วยว่าเขากำลังทาบางสิ่งให้แม่โกรธ และเขาจะเริ่มทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้แม่โกรธ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้ โดยไม่ต้องพร่ำสอน ลูกๆจะเลียนแบบไปโดยอัตโนมัติ เขาจะเรียนรู้ที่จะสัมผัสกับอารมณ์ของตนเอง เท่าทัน และรู้จักการกับมัน ในทางตรงกันข้ามหากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ได้ฝึกทักษะนี้ เผลอโกรธ ตวาด และเสียงดังบ่อยๆ ในอนาคตเมื่อเขาโตเป็นวัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ก็เตรียมใจรับมือกับเสียงตวาดอาละวาดของลูกๆได้เลย
การเป็นต้นแบบที่ดีของลูกนั้น คงไม่ได้หมายถึงคุณพ่อคุณแม่จะต้องสมบูรณ์พร้อมหรือเพอร์เฟ็คไปในทุกเรื่อง อาจจะมีบ้างที่เราหลุดไป ก็เพียงแต่ขอโทษลูกและเริ่มต้นฝึกไปพร้อมๆกันใหม่อีกครั้ง นอกจากการให้อภัยลูกแล้ว อย่าลืมให้อภัยตัวเอง เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆกับลูกนะคะ