เมื่อแรกคลอดเด็กทารกมักมีปัญหาที่พบได้บ่อยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ศึกษาอาการต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลลูกรักค่ะ
ภาวะตัวเหลือง
พบได้มากที่สุดในเด็กทารกโดยประมาณ 60-70% ทั้งในทารกอายุครรภ์ครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนดทุกราย ทั้งนี้จะเห็นสารตัวเหลืองที่ผิวหนังหรือเยื่อบุตาขาว
สาเหตุ
- เกิดก่อนกำหนด <37 สัปดาห์
- หมู่เลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน
- เหลืองจากเม็ดเลือดแดงแตกตัว เช่น พร่องเอนไซม์ G6PD
- ภาวะเม็ดเลือดแดงมากเกินไป
- มีรอยฟกช้ำจากการคลอด มีจุดจ้ำแดงที่ผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อ
- มีภาวะลำไส้อุดตัน ท่อน้ำดีอุดตันแต่กำเนิด ฯลฯ
การดูแล
- ควรป้อนนมบ่อยขึ้นทุก 3 ชั่วโมง ประมาณ (8 มื้อ/วัน) เพื่อให้ลูกน้อยได้ขับถ่ายสารตัวเหลืองออกจากร่างกาย
- ประเมินภาวะตัวเหลือง โดยสามารถใช้นิ้วกดดูสีผิวที่อยู่ใต้ผิวหนังหรือกดตรงปุ่มกระดูก ทำในห้องที่แสงสว่างเพียงพอ
- ถ้าพบว่า ลูกมีอาการตัวเหลืองมากหรือเพิ่มมากขึ้นให้มาพบหมอทันที เพื่อตรวจดูสารตัวเหลืองในร่างกาย
การรักษาตัวเหลือง ในทารกแรกเกิดทำได้ 3 แบบคือ การส่องไฟ, การเปลี่ยนถ่ายเลือด และการใช้ยา
อาการแหวะนม
สาเหตุ ที่ลูกน้อยชอบแหวะนมบ่อย ๆ เนื่องจากระบบการย่อยยังไม่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่อยู่ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารอาจยังปิดไม่สนิท ประกอบกับการกินนมเยอะก็จะทำให้เกิดอาการได้มาก มักจะเกิดขึ้นระหว่างที่เรอหรือทันทีที่กินนม ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน (เป็นเรื่องปกติ) ไม่มีผลกระทบต่อสารอาหารที่ลูกจะได้รับ เพราะแม้ลูกจะแหวะนม แต่ก็ยังเติบโตและแข็งแรงดี
การดูแล
- พยายามอุ้มลูกน้อยอย่างอ่อนโยนและจับลูกเรอหลังกินนม
- วิธีจับลูกเรอ คือให้ลูกอยู่ในท่านั่งตรงบนตัก และใช้มือหนึ่งประคองอกของลูก เอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อย และอีกมือตบหลังลูกเบาๆ หรือลูบเป็นวงกลมเพื่อกระตุ้นการเรอ
- ใช้วิธีอุ้มพาดบ่า พาเดินเที่ยว โดยทิ้งระยะหลังลูกกินนมอิ่มซักพัก ให้ลูกอยู่ในท่าตั้งตรงและค่อยๆ ลูบหลัง
- พยายามอย่าเปลี่ยนผ้าอ้อมในช่วงที่ลูกกำลังอิ่ม
- ให้กินนมทีละน้อย แต่บ่อยครั้งขึ้น
- จัดให้นอนศีรษะสูงเล็กน้อยในท่าตะแคง
อาการสะอึก
พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 3เดือนแรก โดยเฉพาะในทารกที่กินนมบ่อยปริมาณมากและกินค่อนข้างเร็ว อาจทำให้กระเพาะขยายใหญ่ขึ้นไปดันกระบังลมได้ทำใหมีการสะอึก ดังนั้น เมื่อทารกสะอึกคุณแม่จึงควรทำการไล่ลมโดยจับทารกไว้ในท่านั่งประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้ลมออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วขึ้นอาการสะอึกไม่มีผลเสียต่อทารกคุณแม่จึงไม่ควรเป็นกังวล
ถ่ายอุจจาระบ่อย
จากการกินนมแม่ เด็กที่กินนมแม่อุจจาระจะมีสีเหลืองทอง เละเละอาจมีนำปนเล็กน้อย ในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกจะถ่ายบ่อย 5-6ครั้ง/วันหลังจากนั้นจะถ่ายลดลงเหลือ 1-2 ครั้ง/วัน ถ้าลูกกินนมแม่แล้วถ่ายลักษณะนี้ไม่ต้องกังวลใจ
ภาวะร้อง 3 เดือน
หรืออาการปวดท้องโคลิก อาจเกิดหลังจากออกจากโรงพยาบาลหรือเมื่ออายุ 3-4 สัปดาห์ลูกจะร้องตอนหัวค่ำ ร้องเป็นพักๆ นาน 1-3 ชั่วโมง ภาวะนี้เชื่อว่าเกิดจากเด็กมีอาการปวดท้องเมื่อลำไส้บีบตํวเด็กจะร้องเป็นพักๆ อาจเนื่องจากลำไส้ของเด็กยังเจริญไม่เต็มที่
การดูแล
ควรอุ้มทารกพาดบ่า ปลอบโยนลูก อาจให้ญาติผู้ใหญ่ช่วยอุ้ม คุณแม่อย่าเครียดเพราะลูกจะรับรู้และยิ่งร้องมาก ถ้าอุ้มเดินแล้วเด็กร้องน้อยลงจนหลับได้ก็ไม่ต้องให้ยา แต่ถ้าร้องมากอาจให้ ยาแก้ท้องอืด กลุ่มยา SIMETICON ก็จะสบายขึ้น ในรายที่ร้องมากอาจต้องให้ยาแก้ปวดท้องซึ่งต้องใช้ด้วย ความระมัดระวัง ที่สำคัญควรปรึกษาหมอ
ตกขาว
หรือเลือดออกทางช่องคลอดชั่วคราวทารกแรกเกิดตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องจะได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจากแม่ ฮอร์โมนนี้ทำให้มดลูกในเด็กผู้หญิงหนาตัว เมื่อเด็กคลอดออกมาฮอร์โมนจากแม่ลดลงอย่างรวดเร็ว ผนังมดลูกจะลอกตัวจึงมีเลือดออกทางช่องคลอด ส่วนตกขาวและอวัยวะเพศบวมก็เกิดจากฮอร์โมนจากแม่เช่นกัน เมื่อฮอร์โมนหมด ภาวะต่างๆ เหล่านี้ก็จะหายไป
ถุงน้ำตาอักเสบ
เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำตา พบได้บ่อยในทารกตั้งแต่แรกเกิด จะมีน้ำตาไหลคลอตาข้างที่มีการอุดตัน อาจมีการอักเสบติดเชื้อมีขี้ตามาก
การดูแล
คือใช้นิ้วก้อยนวดหัวตาด้านจมูกโดยกดเบาๆจากหัวตาลงสู่จมูก20-30/ครั้ง วันละ 2-3 รอบ ใช้เวลา2-3 เดือนท่อนำตาจะเปิดเอง ถ้าอายุ 10 เดือน ท่อน้ำตายังไม่เปิดจำเป็นต้องพบหมอตา เพื่อพิจารณาแยงท่อน้ำตาให้เปิด
ผื่นแพ้ผ้าอ้อม
เด็กบางคนเมื่อใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปอาจแพ้เป็นผื่นแดงบริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อม
การดูแล
ควรทาวาสลีนก่อนใส่ผ้าอ้อมให้ลูกทุกครั้ง ถ้าแพ้มากอาจต้องใช้ยาแก้แพ้ทา ช่วง 3 เดือนแรกถ้าลูกนอนไม่ดิ้น กลางวันไม่ควรใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ให้ใช้ผ้ายางปูใช้ผ้าอ้อมปูทับในช่วงที่ลูกขับถ่ายแทน กลางคืนค่อยใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
บทความโดย : พญ.นภาไพลิน เศรษฐพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชกรรมทั่วไป ประจำแผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
Mother & Care Free Mag VOL.12 NO.136