ในยุคที่หันไปทางไหนก็มีแต่คนเล่นเฟสบุ๊ค อินสราแกรม ไลน์ โลกโซเซียลเน็ตเวิร์คขยับเข้ามาใกล้จนเราแทบจะไม่สามารถแยกตนเองออกจากสังคมออนไลน์ การโพสต์รูปลูก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ไลฟ์สไตล์หรือพัฒนาการของลูก เป็นความสุขและความชื่นใจของคนเป็นพ่อแม่ จนบางครั้งเราอาจจะหลงลืมไปว่าการโพสต์รูปเรื่องราวเกี่ยวกับลูกในสังคมออนไลน์นั้น ก็มีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน
จากการรวบรวมข้อมูลวิจัยในการใช้สังคมออนไลน์ของพ่อและแม่ (ต่างประเทศ) พบว่า การที่พ่อแม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือ “Sharenting” ในการติดต่อสื่อสารรายละเอียดข้อมูลเด็กนั้นมีเป็นจำนวนมาก โดย98% ของแม่จะโพสต์ถามเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก และ 89% ของพ่อจะโหลดรูปภาพเด็กลงเฟสบุ๊ค โดยพ่อและแม่ส่วนใหญ่ ชอบถึงชอบมากที่รูปของลูกได้รับการตอบรับ การโพสต์รูปลูกในสังคมออนไลน์แล้วได้รับการตอบรับที่ดีนั้นส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่พึงพอใจในบทบาทของการเป็นพ่อแม่มากขึ้นด้วย นั่นก็สื่อความหมายได้ว่า พ่อและแม่มีแนวโน้มที่จะโพสต์ แชร์ รูปและข้อมูลของลูก “บ่อยขึ้นๆ” หลายคนคงสงสัยว่า แล้วการโพสต์รูปลูกนั้นมันมีข้อควรระวังอะไร
โพสต์ถามเรื่องลูก โปรดคิดให้ดี!
สิ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับการโพสต์รูปหรือข้อมูลส่วนตัวของลูกลงในสื่อสังคมออนไลน์ก็คือ “ความเป็นส่วนตัวของลูก” ข้อมูลใดใดก็ตามที่เราโพสต์ลงไปแล้วบนโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว ยากมากที่จะลบล้างหรือเรียกคืนได้ ดังนั้นในอีก 10 หรือ 20 ปี ข้างหน้าลูกอาจได้เห็นข้อมูลตนเองเมื่อเขาโตขึ้น หรือคนอื่นๆก็สามารถเห็นข้อมูลลูกในอดีตได้เช่นกัน เราไม่อาจทราบได้ว่าพวกเขาในอนาคตจะยินดีกับภาพหรือเรื่องราวที่พ่อกับแม่โพสต์ลงไปหรือไม่ ที่สาคัญเรื่องราวและรูปเหล่านั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของลูก ไม่ใช่ของพ่อและแม่ ดังนั้น ก่อนที่คุณพ่อและคุณแม่จะโพสต์ข้อมูลใดใดลงไป ลองตั้งคำถามกับตนเองสักนิดดีไหม เพื่อชะลอการตัดสินใจก่อนโพสต์
- ฉันโพสต์ภาพ/เรื่องราวนี้ของลูกเพื่ออะไรกันนะ ? คำถามนี้จะช่วยเตือนสติว่าเราโพสต์รูปลูกบ่อยเกินไปหรือเปล่า โพสต์ทำไม ทำไมต้องโพสต์
- ถ้าเราเป็นลูก เราจะชอบไหมนะที่แม่ของเราโพสต์รูปหรือเรื่องราวแบบนี้ เช่น การโพสต์ปรึกษาคุณหมอเรื่องอวัยเพศลูกบวมแดงโดยลงภาพลูกด้วย การโพสต์สอบถามเรื่องลูกขี้ขโมย ลูกผิดปกติต่างๆโดยบอกชื่อจริงหรือมีรูปประกอบ หรือแม้แต่รูปไปเที่ยว รูปพัฒนาการต่างๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ชอบลูกอาจจะไม่ชอบก็เป็นได้ ดังนั้นก่อนโพสต์คิดสักนิดว่าหากเขามาเห็น เขาจะยินดีและเต็มใจหรือเปล่า เพื่อนของเราบางคนยังไม่ยอมให้เราเห็นรูปเขาตอนเป็นเด็กๆด้วยซ้ำไปเพราะความอับอาย
การคิดถึงจิตใจและความรู้สึกของลูกหากเขาต้องมาเห็นหรือรับผลจากการโพสต์รูปลงในสื่อสังคมออนไลน์ของพ่อและแม่ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านไตร่ตรองกลั่นกรองก่อนลงโพสต์ได้อย่างแน่นอน